ประชาชนหลายร้อยเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงนายจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา หลังจากชายผิวดำผู้นี้เสียชีวิตขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจับกุมโดยใช้ความรุนแรง เมื่อปลายเดือนก่อน ส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงครั้งใหญ่จนกลายเป็นเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ

พิธีครั้งนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเซ็นทรัล ทางตอนเหนือของเมืองมินนีแอโปลิส เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. โดยนายเบนจามิน ครัมพ์ ทนายความของครอบครัวฟลอยด์ กล่าวว่า นี่เป็นมากกว่าการสดุดีและรำลึกถึงชายผู้จากไปคนนี้

“มันคือการเฉลิมฉลองชีวิต และเป็นการวิงวอนต่ออเมริกา และเป็นการวิงวอนขอความเป็นธรรมว่าเราจะไม่ปล่อยให้การตายของเขาเกิดขึ้นโดยเปล่าประโยชน์”

พิธีรำลึกถึง จอร์จ ฟลอยด์ ครั้งนี้มีขึ้นแม้หลายฝ่ายจะมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้คนมาชุมนุมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในภาวะที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.85 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1 แสนคน

Protesters gather to demonstrate the death of George FloydImage copyrightAFP/GETTY IMAGES

ในพิธีมีการยืนสงบนิ่ง 8 นาที 46 วินาที ตามเวลาที่จอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจใช้เข่ากดทับลำคอจนเสียชีวิต

ในพิธีมีการเอ่ยชื่อบุคคลที่เคยเสียชีวิตในสถานการณ์คล้ายกันอย่าง Eric Garner, Stephon Clark, Philando Castile, Breonna Taylor, and Michael Brown

“เอาเข่าออกไปจากลำคอของเราเสียที”

ขณะที่บาทหลวงอัล ชาร์ปตัน พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อฝูงชนที่มาร่วมพิธี แสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมอันเกิดจากการเหยียดผิว แต่กระนั้นเขาก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

บาทหลวงชาร์ปตันบอกว่าเขาเจ็บปวดที่ต้องขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการเหยียดผิวอีกครั้ง ก่อนหน้านี้เขาเคยขึ้นกล่าวในพิธีรำลึกถึงอีริค การ์เนอร์ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกตำรวจล็อกคอในนิวยอร์ก

บาทหลวงบอกว่าหลังจากที่เดินทางมาถึงเมืองมินนีแอโปลิส เขาไปเยือนจุดที่ฟลอยด์เสียชีวิต

บาทหลวงอัล ชาร์ปตันImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ“เอาเข่าออกไปจากลำคอของพวกเราเสียที” บาทหลวงอัล ชาร์ปตันกล่าว

“ขณะยืนที่ตรงนั้น ผมตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำทั้งมวล ตลอดระยะเวลา 401 ปีที่ผ่านมา พวกเราไม่เคยได้เป็นในสิ่งที่เราต้องการและใฝ่ฝันที่จะเป็นก็เพราะว่าพวกคุณใช้เข่ากดลำคอเราไว้ตลอดมา” เขากล่าวขณะที่ฝูงชนพากันปรบมือ

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะยืนขึ้นในนามของจอร์จ ฟลอยด์แล้วยื่นคำขาดต่อพวกเขาว่าให้เอาเข่าออกไปจากลำคอของพวกเราเสียที”

“เหตุที่เราต้องเดินประท้วงกันทั่วโลกก็เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นเหมือนจอร์จ เราหายใจไม่ออก ไม่ใช่เพราะว่าปอดของเราผิดปกติ แต่เป็นเพราะพวกคุณไม่ยอมเอาเข่าออกไปจากคอของเรา”

“เราไม่ได้ขออะไรมากเป็นพิเศษเลย ขอแค่ปล่อยเรา เพื่อที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำและเป็นในสิ่งที่เราเป็น” บาทหลวงชาร์ปตันกล่าว

ตำรวจทำอะไร จอร์จ ฟลอยด์

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายฟลอยด์ ถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิสจับกุมจากข้อกล่าวหาพยายามใช้ธนบัตรปลอมในร้านค้า วิดีโอบันทึกเหตุการณ์แสดงภาพเขาโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดทับลำคอเขาลงกับพื้นถนน

ภาพที่ผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกเป็นวิดีโอความยาว 10 นาที แสดงให้เห็น นายฟลอยด์ ร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด และพูดว่า “ผมหายใจไม่ออก” และ “อย่าฆ่าผม” หลายครั้ง ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ที่ใช้เข่ากดทับลำคอของนายฟลอยด์เข้ากับพื้นถนน

ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า “มีเลือดไหลออกจากจมูกของเขา” ส่วนอีกคนบอกตำรวจให้ “ยกเข่าออกจากคอของเขา”

จอร์จ ฟลอยด์ นอนแน่นิ่ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะนำตัวเขาขึ้นรถพยาบาลไป และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

ผลการชันสูตรของแพทย์ที่ครอบครัวฟลอยด์ ว่าจ้าง ชี้ว่า นายฟลอยด์ เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจซึ่งเกิดจากแรงกดที่ลำคอและหลัง ขัดแย้งกับผลชันสูตรก่อนหน้านี้ของแพทย์จากหน่วยงานรัฐซึ่งระบุว่า เขาเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวโดยมีการใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยร่วม

ProtestersImage copyrightPA MEDIA
คำบรรยายภาพการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวและปัญหาตำรวจสังหารคนผิวดำได้ขยายวงไปในหลายประเทศ โดยผู้ประท้วงชูข้อความว่า “BlackLivesMatter” ที่แปลว่า “ชีวิตคนดำมีค่า”

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมก่อเหตุทั้ง 4 นายได้ถูกไล่ออกจากราชการ และถูกดำเนินคดีต่อการเสียชีวิตของนายฟลอยด์ โดย นายเดเร็ค เชาวิน คนที่ใช้เข่ากดทับลำคอของนายฟลอยด์ ถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนอีก 3 คนถูกตั้งข้อหาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรมครั้งนี้

กรณีดังกล่าวได้นำไปสู่การประท้วงต่อต้านปัญหาการเหยียดสีผิว และการที่ตำรวจผิวขาวสังหารชาวอเมริกันผิวดำโดยมิชอบ การประท้วงได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ และบางพื้นที่รุนแรงถึงขั้นเกิดเหตุจลาจล จนทำให้ทางการต้องประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวในหลายเมือง รวมทั้งขยายวงไปในหลายประเทศ

ขณะเดียวกัน บุคคลชื่อดังในแวดวงต่าง ๆ เช่น อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายาในเจ้าชายแฮร์รี ต่างออกมาแสดงความสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง

 

 

 

ที่มา : BBC NEWS THAI

801 Views