เมื่อเจ็ดเดือนก่อน จิรายุทธ ลัทธิวงศกร  ว่าที่นายแพทย์เชื้อสายไทยในสหรัฐฯ เดินเข้าสู่ศาลสูง (Supreme Court) ของอเมริกา ในฐานะโจทก์ร่วมในคดีประวัติศาสตร์ ฟ้องร้องรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยกเลิกโครงการ DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals Program) ที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนหนุ่มสาวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายพร้อมครอบครัวเมื่อยังเยาว์วัย ไม่ให้ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ

ในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีตามเวลาในสหรัฐฯ จิรายุทธ ผู้อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียโดยไม่มีวีซ่าตั้งแต่ 9 ขวบ แต่ได้รับการคุ้มครองภายใต้โครงการ DACA ก็ได้รับข่าวที่เขาและผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 650,000 คนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อคณะตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องของรัฐบาลของทรัมป์ที่ต้องการยุติโครงการดังกล่าว

“เปิดดูตั้งแต่ตีห้า ว่าวันนี้จะมีข่าวหรือยัง ประมาณเจ็ดโมง อยู่ดี ๆ โทรศัพท์ก็มีเสียงเยอะมาก ก็เลยรู้แล้วว่าตัดสินออกมาแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ดี พอเช็ค คือ เพื่อน ทุกคนที่อยู่ใน lawsuit (ทุกคนที่เป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้อง) ต่างก็อัพเดทกันว่า ข่าวออกแล้ว เราชนะ ทุกคนก็ดีใจกันหมด” จิรายุทธให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย หนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ทราบข่าว

เปิดใจ 'ดรีมเมอร์' ไทย หลังศาลสูงยกให้ชนะ 'ทรัมป์' ในคดีประวัติศาสตร์ DACA
คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของ “ดรีมเมอร์” (Dreamers) คำที่ใช้เรียกบรรดาคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายพร้อมครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก และถือเป็นการสกัดกั้นความพยายามของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะยกเลิกโครงการอายุ 8 ปีซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา

โอบามาประกาศบังคับใช้โครงการ DACA โดยให้เหตุผลว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโต เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตในอเมริกา ไม่ต่างจากคนอเมริกันทั่วไป เพียงแต่พวกเขาไม่มีเอกสาร หรือวีซ่า

ในขณะที่รัฐบาลของทรัมป์ มองว่า DACA เป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะโอบามาประกาศใช้ตามอำเภอใจ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลของทรัมป์ยังอ้างว่า DACA เป็นโครงการที่กระตุ้นให้มีเด็กและเยาวชนลักลอบเข้าอเมริกาผิดกฎหมายมากขึ้น และแย่งงานไปจากชาวอเมริกัน

Jirayuth Latthivongskorn, a DACA recipient, speaks to the press after the Supreme Court's hearing

SEE ALSO:

การต่อสู้ของ ‘จิรายุทธ ลัทธิวงศกร’ นายแพทย์เชื้อสายไทย กับความเป็นไปของโครงการ DACA ในอเมริกา

ตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะชี้ว่าโครงการ DACA หรือการยุติโครงการนี้ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่พิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Department of Homeland Security) ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและให้คำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอในการยุติโครงการดังกล่าว ด้วยมติ 5 ต่อ 4 เสียง โดยหัวหน้าคณะตุลาการศาลสูง จอห์น โรเบิร์ตส ออกเสียงสนับสนุนตุลาการฝ่ายเสรีนิยมอีก 4 คน

“ไม่คาดหวังเลยว่าจะชนะ คาดหวังว่าจะแพ้ ถ้าพูดตรง ๆ เพราะเรารู้กันอยู่ว่า ตุลาการส่วนมากจะ (มีแนวคิดทางการเมือง) ออกไปทาง republican ส่วนหัวหน้าคณะตุลาการ จอห์น โรเบิร์ตส เราคาดหวังว่าเขาจะเป็น swing vote (คะแนนเสียงที่คาดเดาได้ยาก) นะครับ” จิรายุทธกล่าวกับวีโอเอไทย

“ตกใจครับ แล้วก็กำลังตะลึง กำลังค่อย ๆ คิดว่าหมายความว่าอย่างไรสำหรับชีวิตผมเอง สำหรับพัน ๆ คน และสำหรับ movement (การเคลื่อนไหว) ของ immigration rights (สิทธิของผู้อพยพเข้าเมือง) ในอเมริกา เพราะว่านี่เป็นชัยชนะแรกที่ใหญ่ระดับนี้ ตั้งแต่ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี”

“เราชนะในวันนี้เพราะว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (undocumented immigrant) ครอบครัว และพันธมิตรผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องนี้ We fought for this (เราต่อสู้กันมาเพื่อสิ่งนี้)…เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว ที่มีเรื่องการระบาดของโควิด-19 ก็แสดงให้ว่ามี (ผู้เข้าร่วมโครงการ DACA) กี่พันกี่หมื่นคนที่เป็น essential worker (คนทำงานที่ขาดไม่ได้) ในภาคเกษตร หรือในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็น paramedic มีคนหลายคนมากที่ช่วยแบ่งบันเรื่องของตัวเองว่าการเป็น DACA คืออะไร และมันไม่ได้ง่าย แต่เพราะทุกคนช่วยกัน เราถึงมาถึงจุดนี้ได้”

'จิรายุทธ ลัทธิวงศกร' นายแพทย์ ‘โรบินฮูด’ เชื้อสายไทย ผู้ท้าทาย ปธน. ‘ทรัมป์’

พ่อแม่ของจิรายุทธ หรือ นิว เดินทางมาอเมริกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2541 เพื่อหาช่องทางทำมาหากินและเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่ธุรกิจทำบ้านจัดสรรของพวกเขาในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ก่อนที่จะพาลูกทั้งสามคน คือ คุณจิรายุทธ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 9 ขวบ พร้อมพี่ชาย และพี่สาวมาอยู่ด้วย โดยไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาต้องคอยปิดบังสถานะของตัวเอง

สามพี่น้องตระกูลลัทธิวงศกร ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสหรือทรัพยากรบางอย่างได้ เช่น การขอทุนการศึกษาของรัฐ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือการทำใบขับขี่ เพราะไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง และไม่มีหมายเลข Social Security ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวที่ต้องใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในอเมริกา

๋Jiryuth Latthivongskorn, a DACA recipient from Thailand, poses with his family in Hayward, Calif.

SEE ALSO:

รู้จักครอบครัว ‘ลัทธิวงศกร’ แรงขับและกำลังใจ ‘จิรายุทธ’ นายแพทย์เชื้อสายไทยผู้ฟ้องร้อง ‘ทรัมป์’

จิรายุทธเข้าร่วมโครงการ DACA ทันทีหลังจากที่มีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2555 สิทธิประโยชน์ของ DACA มีอายุครั้งละ 2 ปี และเปิดให้ต่ออายุได้ แต่จะไม่นำไปสู่การเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ อย่างถาวรแต่อย่างใด

นอกจากจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว DACA ยังทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนหนังสือ และขอใบประกอบอาชีพ หรือ work permit ได้ และนั่นทำให้ จิรายุทธ ได้เข้าเป็นนักเรียนแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย University of California San Francisco หรือ UCSF ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นนักเรียนที่ไม่มีวีซ่าคนแรกที่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ UCSF เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

ปัจจุบันชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 30 ปี เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาล Zuckerberg San Francisco General Hospital and Trauma Center ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

Jirayuth Latthivongskorn is a DACA recipient and a co-founder of Pre-Health Dreamers

SEE ALSO:

‘จิรายุทธ ลัทธิวงศกร’ กับ Pre-Health Dreamers: ภารกิจนำทาง ‘นักฝัน’ สู่การเป็นบุคลากรการแพทย์

คำตัดสินของคณะตุลาการศาลสูง หมายความว่า หากรัฐบาลของ ปธน. ทรัมป์ยังต้องการจะเดินหน้ายุติโครงการ DACA เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะต้องมีเหตุผลที่แน่นหนากว่านี้ The New York Times รายงานว่า หากรัฐบาลของทรัมป์เลือกที่จะเดินหน้า กระบวนการดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน

เชื่อว่าคำตัดสินของศาลสูงจะส่งผลกระทบต่อการหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ ในขณะที่เหลืออีกเพียงไม่ถึง 5 เดือนก่อนการเลือกตั้ง โดยทรัมป์ได้รับปากต่อบรรดาผู้สนับสนุนว่าจะหาทางยกเลิกโครงการ DACA ตั้งแต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน

“ถามว่ากลัวมั้ยว่าทรัมป์จะลองอีกทีนึง ผมคิดว่ามันก็เป็นความเป็นไปได้ ไม่มีใครพูดว่าจะไม่เกิดอีก แต่ที่เราชนะเคสนี้มาแล้ว ก็คือโชว์ว่า DACA เป็นโปรแกรมที่ได้รับการสนับสนุนเยอะมาก ตามกฎหมายมี legal backing (การรองรับทางกฎหมาย) ถ้าเกิดรัฐบาลของทรัมป์จะลองอีกที ต้องหา argument (ข้อโต้แย้ง) ที่ดีกว่านี้ ซึ่งเราเชื่อว่ามันไม่มี”

Credit VOA Thai

706 Views