วันที่ 21 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า หลังลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลังมีประชาชน ชาวโลกโซเชียลแชร์ภาพและวิพากษ์วิจารณ์การบูรณะโบสถ์เก่าแก่ อายุนับ 205 ปี ของวัดแห่งหนึ่ง หลังสมาชิกเฟชบุ๊ก ชื่อ ตา ตีบ โพสต์ภาพโบสถ์ พร้อมระบุข้อความว่า ก่อนและหลังบูรณะเป็นไงบ้างครับ สวยไปเลยใช่ไหมครับเบิดคำสิเว้า อย่าหาทำ…

และมีประชาชนต่างนำไปแชร์ว่อนสนั่นในขณะนี้ เพื่อวอนให้มีผู้มีความรู้ด้านอนุรักษ์ลงมาดูด้วย เสียดายความงามของโบราณที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาให้ลูกหลานได้ศึกษา โบสถ์เก่า (สิม) ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีรายชื่อรวบรวมโดยกรมศิลปากร แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียน

ล่าสุดทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นางกาเหว่า อ่อนโคกสูง อายุ 54 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงาน นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล ส.ส.เพื่อไทย จ.ชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า กรณีดังกล่าวพบว่าโบสถ์หลังเดิมมีการเปลี่ยนแปลงคือจากสีเดิม แต่ไม่ได้ก่อสร้างใหม่ มีเพียงการปะผุตรงที่ชำรุด และทำหลังคาครอบไว้ขึ้นให้ใหม่เท่านั้น นอกจากนี้มีเพียงการทำสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ด้าน ชาวบ้านเล่าปากต่อปากอยากให้เจ้าอาวาสเปลี่ยนสีที่ไม่ควรใช้สีหวานแหววสีชมพูขนาดนี้ เพื่อให้กลับมาใช้สีเดิมและคงสภาพเก่าแก่มาแต่โบราณไว้

ส่วนทาง นายสมาน ดาวช่วย อายุ 56 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแก้ง หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า หลังจากที่เจ้าอาวาสวัดของบจากทางสำนักพุทธฯ เพื่อมาซ่อมแซมในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยได้งบประมาณมากว่า 2 แสนบาท และทำการทำนุบำรุงและซ่อมแซมโบสถ์ดังกล่าว จนกระทั่งแล้วเสร็จ แต่มาพบว่ามีการมาถ่ายภาพจากเดิมเปรียบเทียบกับภาพใหม่ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการทาสีโบสถ์เป็นจำนวนมากในครั้งนี้เกิดขึ้น ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดในขณะนี้ต้องการอยากให้โบสถ์กลับมาใช้สีเดิมที่เคยมีมามากกว่า

ล่าสุด พระครูสุธรรมมะโครต (สนั่นศาสตร์มุนี) เจ้าอาวาส วัดแจ้ง หมู่ที่ 1 บ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า หากทางเจ้าอาวาสทำผิดหรือทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ เจ้าอาวาสก็พร้อมจะแก้ไข ทำสีให้กลับมาเหมือนสีเดิมสภาพเดิม ซึ่งพร้อมจะล้างสีใหม่ออกทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสบายใจ โดยก่อนหน้านี้ได้ติดต่อไปยังกรมศิลป์แล้วแต่ไม่เคยมาดู ทั้งนี้อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาดำเนินการเพื่อไม่ให้โบสถ์โบราณ ที่มีอายุกว่า 205 ปี หลังนี้ต้องสูญหายไป

อีกทั้งล่าสุดด้าน นายรัชฎ์ ศิริ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน และ นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว พร้อมจะทำการแก้ไขให้กับเข้าสู่สภาพเดิมต่อไป

 

766 Views