[responsivevoice voice=”Thai Male” buttontext=”ฟังข่าว 2 นาที”]


พื้นที่ทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯ เผชิญกับควันไฟป่าจำนวนมหาศาลปกคลุมไปทั่วบริเวณ ส่งผลให้โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่เพิ่มสูงขึ้น

เหตุไฟป่าครั้งรุนแรงในพื้นที่ทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ที่เผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 12 ล้านไร่ ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันปริมาณมหาศาลลอยปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ ติดอันดับเลวร้ายที่สุดในโลก โดยล่าสุดมลพิษทางอากาศได้ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้สูงอายุ จนเริ่มกลายเป็นวิกฤติด้านสุขภาพซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19

มีรายงานว่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ระดับมลพิษที่ส่งผลต่อปอด หรือค่าพีเอ็ม 2.5 ได้พุ่งสูงกว่าในช่วงฤดูร้อนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีส้มและสีน้ำตาลหม่น ขณะที่ระดับมลพิษในรัฐโอเรกอนก็สูงสุดทุบสถิติ

โรงพยาบาลในรัฐโอเรกอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าหนักที่สุด มีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารักษาอาการในห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีสายด่วนโทรมาปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ หลังได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหอบ มะเร็งปอด และโรคหัวใจ ซึ่งมักจะมีอาการไอ จาม ระคายเคืองในลำคอ ปวดศีรษะ ร่วมกับหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ

นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ในแคลิฟอร์เนียระบุว่า คุณภาพอากาศตามจุดตรวจสอบคุณภาพอากาศกว่า 120 แห่ง พบว่าคุณภาพอากาศเมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นปานกลางและขึ้นไปถึงระดับอันตราย โดยในบางพื้นที่ในย่านชายฝั่งแปซิฟิกระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าระดับปกติติดต่อกันมานาน 6 วันแล้ว

 

ส่วนที่ซานฟรานซิสโก ล่าสุดระดับพีเอ็ม 2.5 พุ่งสูงขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในแคลิฟอร์เนียถึง 3 เท่า ติดต่อกันมานาน 6 วันแล้วเช่นกัน โดยหน่วยงานสาธารณสุขต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะยิ่งซ้ำเติมให้ประชาชนอ่อนแอลงและมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจอยู่แล้ว.

[/responsivevoice]


ที่มา : รอยเตอร์

941 Views