[responsivevoice voice=”Thai Female” buttontext=”ฟังข่าว 3 นาที”]
องค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีที่ทางการไทยสลายการชุมนุมและตั้งข้อหาหนักต่อผู้ร่วมการชุมนุมอย่างสันติ พร้อมเรียกร้องให้ไทยให้การรับรองว่าจะไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

น.ส.ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยแสดงความกังวลเรื่องที่ทางการไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้จะส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

“การประท้วงดำเนินไปอย่างสันติเป็นส่วนใหญ่ และโดยรวมแล้วทางการได้เคารพพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ แต่เรามีความกังวลเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อเช้าวานนี้ที่กรุงเทพฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมในวันก่อนหน้านั้น ซึ่งที่จริงเป็นการชุมนุมโดยสงบเป็นส่วนใหญ่”

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองในพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นภาคี”

โฆษกสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังแสดงความกังวลเรื่องการควบคุมตัวและจับกุมนักกิจกรรม รวมทั้งผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหลายคน ซึ่งรวมถึงผู้เข้าร่วมในการประท้วง

“เรายังมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง เรื่องการตั้งข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา ซึ่งรวมถึง ข้อหาปลุกระดมมวลชนต่อบุคคลที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองอย่างสันติ”

“เราขอเรียกร้องรัฐบาลให้การรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดตกเป็นเป้าหมาย ถูกคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาร้ายแรง ต่อการที่พวกเขาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ”

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังเรียกร้องให้ทางการไทยรับรองว่าจะมีการจัดหามาตรการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นระบบสำหรับผู้ที่ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวทุกคน ซึ่งรวมถึงการติดต่อกับทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา

Pro-democracy protesters react as riot police fire water canons during an anti-government protest in Bangkok, Thailand, 16 October 2020.

ก่อนหน้านี้ นายเคลมองต์ วูเล ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้ทวีตข้อความแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “มีความกังวลอย่างมาก” ต่อสถานการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองในไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้

เขาโพสต์ข้อความว่า “การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งการจับกุมแกนนำในกรุงเทพฯ คือการหยุดยั้งเสรีภาพในการชุมนุม รัฐบาลต้องอนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเรียกร้องและแสดงออกได้ตามสิทธิ และแสวงหาการเจรจา ไม่ใช่ปราบปรามพวกเขา”

Pro-democracy protesters with umbrellas to protect themselves from the rain attend an anti-government protest at intersection on the main road in Bangkok, Thailand, 16 October 2020.
ขณะที่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ชี้ว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เป็นข้ออ้างของทางการไทยในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงโดยสันติ

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบแก่รัฐบาลไทยในการกดขี่เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และช่วยให้ไม่สามารถเอาผิดใด ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ได้”

“ทางการไทยจะต้องไม่ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติด้วยกฎหมายอันรุนแรงที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของพลเมืองอื่น ๆ”

นายอดัมส์ ชี้ว่า “รัฐบาลไทยได้สร้างวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองขึ้นมา…การทำให้การประท้วงโดยสันติและการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองเป็นเรื่องผิดกฎหมายถือเป็นเครื่องหมายของการปกครองแบบเผด็จการ”

A pro-democracy protester rinses his face after riot police fired water canons with pepper spray during an anti-government protest in Bangkok, Thailand, 16 October 2020
ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางการไทยใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการห้ามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และคุกคามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ และองค์การสหประชาชาติประณามการกระทำของรัฐบาลไทยและเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกจับกุมไปอย่างไม่มีเงื่อนไขและโดยทันที

A protestor shows the three-finger salute during anti-government protests, in Bangkok, Thailand October 16, 2020.

นอกจากนี้ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ได้เรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อการชุมนุมอย่างสันติวิธีของประชาชน การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากล และรัฐควรหยุดคุกคามประชาชนโดยทันที

[/responsivevoice]

ที่มา : bbc thai

1,167 Views