ชุมนุม 18 ตุลา : ปรากฏการณ์ใหม่ในแฟลชม็อบ “ดาวกระจาย” และ “ไร้แกนนำ” เมื่อ “ราษฎร” ไทยลุกฮือ

protest

การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำแน่ชัดของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และได้สร้าง “ปรากฏการณ์ใหม่” ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย

หนึ่งในเป้าหมายร่วมของผู้ชุมนุมคือการกดดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง สะท้อนผ่านเสียงตะโกนขับไล่ “ประยุทธ์ออกไป” ที่ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ และเป็นประโยค/วลีหลักที่วนเวียนอยู่ในทุก “แฟลชม็อบ” ของ “ราษฎร”

“มีผู้สื่อข่าวต่างชาติฟังเราอยู่ อาจจะไม่เข้าใจว่าเรากำลังพูดอะไร ขออนุญาตปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ I don’t like Prayuth Chan-o-cha because I don’t like – you know, OK, yes I know.” หญิงนิรนามรายหนึ่งกล่าวระหว่างเปิดปราศรัยที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ช่วงหัวค่ำวันนี้ 18 ตค เรียกเสียงโห่ฮาอย่างชอบใจจากบรรดาผู้ชุมนุม

ความรู้สึกอึดอัด-คับข้องใจ-โกรธแค้นนายกฯ คนที่ 29 ในหมู่ผู้ชุมนุมที่เป็นแนวร่วมของ “คณะราษฎร 2563” ได้เพิ่มมากขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีการจับกุมแกนนำอย่างต่อเนื่อง

portest

แม้บางส่วนยอมรับกับบีบีซีไทยว่ารู้สึกหวาดกลัวว่าอาจถูกรัฐไทยกระทำซ้ำด้วยความรุนแรง และกังวลว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเรียนและหน้าที่การงาน หากถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พวกเขาก็ยังยินดีปรากฏตัวบนท้องถนนเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับต่อใช้อำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์กับพวก

อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวไว้เมื่อ 16 กค. ว่าเขาเป็น “นายกฯ ที่รับฟังประชาชนมากที่สุด” และจะไม่ลาออกตามข้อเรียกร้องขอผู้ชุมนุม พร้อมแจกแจงเหตุผลความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

บีบีซีไทยรวบรวม 4 ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในแฟลชม็อบ “ดาวกระจาย” เมื่อ “ราษฎร” ไทยพร้อมใจกันลุกฮือ

ทำไมต้อง “ราษฎรชุดดำ”

ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา จะพบว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็น “ราษฎรชุดดำ” โดยเฉพาะใน 2 จุดหลักที่เข้าร่วม “ปิดห้าแยกลาดพร้าว” เมื่อ 17 ต.ค. และ “ปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 18 ต.ค. ที่เห็น “สีเสื้อ” อย่างชัดเจนจากภาพมุมสูงของสื่อสำนักต่าง ๆ

บีบีซีไทยเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่าการสวมใส่เสื้อสีดำจะ “ปลอดภัยเวลาเปียก” และ “ไม่เตะตาเจ้าหน้าที่”

ผู้ชุมนุมขณะเคลื่อนขบวนจากสะพานลอยหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในเวลา 16.00 น. ก่อนไปปักหลักอยู่ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อ 17 ต.ค.
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดได้นำเสื้อกันฝนและร่มมารองรับการเข้าร่วมกิจกรรมกลางสายฝน รวมถึงเตรียมใช้เป็นเครื่องป้องกันหากถูกสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำ หรือน้ำผสมสารเคมี

กลยุทธ์สื่อสารผ่าน “เกมป้องปาก” และ “ภาษามือ”

การชุมนุมที่ไม่มีเวทีปราศรัยหลัก และไม่มีรถเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็น “ยานพาหนะต้องห้าม” ไม่ให้เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ที่ปรากฏความเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามคำสั่งของกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ที่สำคัญคือไม่มีแกนนำแน่ชัด เนื่องจากบรรดา “แถว 1” ถูกจับกุมและตั้งข้อหาไปเกือบหมดแล้ว ได้ก่อให้เกิดการสื่อสารรูปแบบใหม่ในพื้นที่ชุมนุม ทว่าเป็นการย้อนกลับไปใช้สื่อดั้งเดิมอย่างสื่อบุคคล

  • การตะโกนบอกต่อ ๆ กันแบบเกมป้องปาก กิจกรรมสันทนาการที่ทุกคนรู้จักดีตั้งแต่เด็กถูกนำมาใช้เป็นช่องทางสื่อสารหลัก เมื่อ “การข่าวม็อบ” พบความเคลื่อนไหวที่เห็นว่าจำเป็นต้องแจ้งเตือนผู้ชุมนุมผ่านประโยคต่าง ๆ อาทิ “รถน้ำมา”, “ถ้าตำรวจมาให้สลายตัว”, “ได้ยินเสียงพลุให้แยกย้าย” หรือบางครั้งก็ใช้จัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ผ่านวลีที่ว่าให้ “นั่งลง”, “อย่าวิ่ง”, “กลับมา”, “เดินตรงไป”

“เพิ่งรู้ว่าเกมสันทนาการมีประโยชน์ก็วันนี้” ผู้ชุมนุมชายรายหนึ่งกล่าวกับเพื่อนของเขา

ผู้ชุมนุมที่แยกอโศกกำลังฝึกใช้ภาษามือ ซึ่งท่านี้หมายถึง "อันตราย"
  • มีการนำภาษามือมาใช้ โดยผู้ชุมนุมเริ่มสอนต่อ ๆ กันเพื่อสื่อความหมายกรณีเกิดเหตุอันตราย, ไม่เข้าใจเพราะไม่ได้ยินเสียง หรือพบคนถูกทำร้าย
  • การแสดงอารมณ์ร่วมของผู้ชุมนุมจะทำผ่านสัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้ว” สลับกับการส่งเสียงตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” “ขี้ข้าเผด็จการ” “ภาษีกู” ร่วมกับผู้ชุมนุมรายอื่น ๆ แม้ไม่ได้ยินเสียงผู้ปราศรัยหลักที่อยู่ไกลออกไปก็ตาม
  • ใคร ๆ ก็ลุกขึ้นปราศรัยได้หากถือโทรโข่งในมือ หรือผลัดเปลี่ยนกันใช้โทรโข่ง/เครื่องเสียงขนาดเล็กของผู้ชุมนุมรายอื่นก็ได้ ภายใต้คำขวัญ “ทุกคนคือแกนนำ”

โลกคู่ขนานใน “ชุมชนวินาที” กับการลบ “รอยเท้าดิจิทัล”

แม้ “สื่อเก่า” จะถูกงัดขึ้นมาใช้ในพื้นที่ประท้วง แต่ช่องทางที่ใช้นัดหมายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดา “ราษฎร” ทั้งหลายก็ยังอยู่ในโลกออนไลน์ หนึ่งในนั้นทำผ่านแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ ซึ่งมีความเร็วสูงสุดระดับวินาทีต่อวินาที และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างกระแสในโลกเสมือนจริง จนเกิดเป็น “ชุมชนขนาดย่อม” ที่ผู้คนเข้ามาสนทนาในประเด็นเดียวกัน

ในระหว่างการชุมนุม ทวิตเตอร์ถูกใช้กระจายข่าวสำคัญ อาทิ แจ้ง “จุดหลบภัย” ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้มหาวิทยาลัยที่ใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม เช่น จุดชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว ใช้ ม.เกษตรศาสตร์, จุดชุมนุมแยกอโศก ใช้มหาวิทยาลัยศรีนครินททรวิโรฒประสานมิตร (มศว.), จุดชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยฯ ใช้ ม.มหิดล, แจ้ง “ห้องน้ำใกล้ม็อบ” เนื่องจากรถสุขาก็เป็นอีกยานพาหนะที่ กอร.ฉ. ไม่อนุญาตให้เคลื่อนไปให้บริการในสถานที่ชุมนุม

protest

ขณะเดียวกันผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลบางส่วนยังช่วยกันแจ้งเตือนให้ “ปกปิดตัวตน” ด้วยการงดแสดงตัวในสื่อสังคมออนไลน์ และ “ลบรอยเท้าดิจิทัล” ด้วยการปิดโลเคชั่นในสมาร์ทโฟนขณะเข้าร่วมชุมนุม เพราะกำลังฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเข้าร่วมชุมนุมเกิน 5 คน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท”

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นผลจากการปรากฏข่าวในสื่อหลายสำนัก อาทิ ข่าวสด, ไทยพีบีเอส ซึ่งรายงานโดยอ้างคำชี้แจงของ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ที่ว่าการโพสต์บิดเบือนสร้างขาวปลอม (เฟกนิวส์) การเช็คอิน การถ่ายภาพตัวเอง (เซลฟี่) ในสถานที่ชุมนุม

“อย่ามองว่าเป็นเรื่องโก้เก๋กระทำได้ นั่นเป็นการรับสารภาพ โดยมีพยานหลักฐานเป็นรูปที่เข้าสู่สังคมออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์แถลงข่าว

แผน “ย้ายบ้าน” ไปอยู่ในแอปฯ เทเลแกรม

นอกจากเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของขบวนการนักศึกษาประชาชนกลุ่มหลัก ๆ วันนี้ยังเกิดปรากฏการณ์เตรียม “ย้ายบ้าน” ของแนวร่วม “คณะราษฎร 2563” ด้วย

9 ชม. หลังกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของ “คณะราษฎร” แจ้งผ่านเพจตัวเองว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อาจปิดเพจของพวกเขา และแจ้งให้ “ย้ายถิ่นฐาน” ไปใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ปรากฏว่าแนวร่วมและผู้ติดตามได้หลั่งไหลเข้าสู่ “บ้านหลังใหม่” เป็นจำนวนมาก

ข้อมูล ณ เวลา 22.00 น. กลุ่มสนทนา (กรุ๊ปแชท) ของเยาวชนปลดแอกมีสมาชิกกว่า 1.47 แสนคน ส่วนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ มีผู้ติดตามกว่า 2.94 หมื่นคน

แอดมินผู้จัดการกลุ่มได้แจ้งเตือนสมาชิกให้ระมัดระวังการเปิดเผยตัวตน ด้วยการงดใส่รูปตัวเองในภาพโปรไฟล์, งดใส่ชื่อจริง และปิดหมายเลขโทร

protest

นอกจากกรุ๊ปแชทของขบวนการนักศึกษาประชาชน ยังมีกรุ๊ปแชทอื่น ๆ ที่ประชาชนนิรนามตั้งขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งข่าวสารกัน รวมถึงทำแบบสำรวจออนไลน์เพื่อลงมติเลือกสถานที่จัด “แฟลชม็อบ” ด้วย

อย่างการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว ก็เป็นผลจากการที่สมาชิกกรุ๊ปแชทผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ 41% ลงมติเลือก เช่นเดียวกับวงเวียนใหญ่ ที่มีผู้ลงมติให้ 25% ทำให้มวลชนไปปรากฏตัวจริงที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 2 แห่ง แม้บีทีเอสจะชิงปิดให้บริการไปก็ตาม

การสื่อสารในเทเลแกรม และการลงมติแบบเรียลไทม์ เป็นสิ่งที่ขบวนการประท้วงที่เกาะฮ่องกงเคยใช้มาก่อนแล้วเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

522 Views