อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ติดอันดับหนึ่งใน 100 บุคคลที่น่าจับตามองในอนาคตของนิตยสารไทม์ (Time100 Next) ประจำปีนี้ โดยนิตยสารไทม์ระบุว่า อานนท์ปลุกพลังให้ชาวไทยรุ่นใหม่เรียกร้องให้ยกเลิกอำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ”ฉบับทหารร่าง” ในปัจจุบัน

ชาร์ลี แคมป์เบล ผู้สื่อข่าวของนิตยสารไทม์ ระบุว่า การเคลื่อนไหวของอานนท์ทำให้เขาถูกจับกุมสามครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยข้อหาต่างๆ รวมถึงข้อหายุยังปลุกปั่น การเคลื่อนไหวของเขายังปลุกระดมให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2557 นิตยสารไทม์ยังระบุโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า การประท้วงที่ยังคงเดินหน้าต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ต่างส่งแรงกดดันถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันมากขึ้น

“ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย และทำหน้าที่เป็นกำแพงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมมมากกว่า แต่ประชาธิปไตยของไทยตกต่ำลงเมื่อไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น” นิตยสารไทม์ระบุ

Thailand Protests
Thailand Protests

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นิตยสารไทม์เคยลงบทความเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหววัย 36 ปีผู้นี้ไปแล้วครั้งหนึ่งในฐานะ “ทนายผู้พยายามปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ผู้ออกมาพูดประเด็นดังกล่าวในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ถือเป็นการ “ดันเพดาน” การอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ในไทย ที่ก่อนหน้านี้การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์มักไม่เป็นที่เปิดเผยในสังคมจากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การอภิปรายของอานนท์จุดกระแสให้ผู้ประท้วงคนรุ่นใหม่ออกข้อเรียกร้องสิบข้อ ที่มีทั้งการเรียกร้องให้ตัดลดงบประมาณแผ่นดินในส่วนของสถาบันกษัตริย์ ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่ “เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม” ทั้งหมด

สืบหาความจริงเกี่ยวกับการลงโทษราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ในบทความดังกล่าว นิตยสารไทม์ระบุประวัติของอานนท์ว่า เป็นบุตรจากครอบครัวชาวนาในจังหวัดร้อยเอ็ด เขาตื่นตัวทางการเมืองครั้งแรกในช่วงการประท้วงหลังการรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2549 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เป็นกลุ่มจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ อานนท์เลือกเป็นทนายเนื่องจากเขาเห็นชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมถูกคุกคาม แต่ต่อมาเขาก็เชี่ยวชาญการทำคดีให้ลูกความที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาทำให้เขากลายสถานะจากทนายมาเป็นจำเลยเสียเอง

“ผมคิดว่าเป้าหมายของเรานั้นคุ้มค่าสำหรับทุกคนในประเทศไทย มันคุ้มค่ามากจนนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงอย่างเรายอมเสียสละเสรีภาพส่วนตัวเพื่อโอกาสบรรลุเป้าหมายเหล่านี้” เขากล่าวกับนิตยสารไทม์ในขณะนั้น


VOAThai

691 Views