รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และหวังว่าจะเห็นทุกฝ่ายในภูมิภาคติดต่อกับผู้นำทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนในเมียนมาโดยเร็วที่สุด หลังมีคำถามถึงความคืบหน้าของอาเซียนหลังประชุมวาระพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมามากว่าหนึ่งเดือนแล้ว

รัฐมนตรีช่วยฯ เวนดี้ เชอร์แมน เดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ของอาเซียนในอินโดนีเซีย และเยือนกัมพูชาและไทย ระหว่างวันจันทร์ถึงวันพุธ (31 พ.ค.- 2 มิ.ย.) โดยหนึ่งในประเด็นที่ รมต. ช่วยหารือกับประเทศอาเซียนคือ เรียกร้องให้มีปฏิบัติการเร่งด้วยเพื่อยุติวิกฤติทางมนุษยธรรมในเมียนมา และเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องกดดันให้กองทัพเมียนมา “ยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม และฟื้นฟูเมียนมากลับสู่ประชาธิปไตย”

การเยือนประเทศอาเซียนของนางเชอร์แมน ซึ่งเป็นการเยือนเอเชียครั้งแรกของเธอนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มีขึ้นไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากที่ประเทศอาเซียนเก้าประเทศ ยกเว้นเมียนมาแสดงจุดยืนค้านร่างมติไม่ขายอาวุธต่อเมียนมาของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างจดหมายที่ลงนามโดยประเทศอาเซียนลงวันที่ 19 พฤษภาคม ระบุว่าต้องมีการเจรจามากกว่านี้เพื่อให้ร่างมติดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะต่อ “ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด” และกำลังพยายามเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา
“เราทุกฝ่ายต่างหวังว่า (สหประชาชาติ) จะออกมติมาได้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ พวกเราต่างอดทนรอไม่ได้ต่อวิกฤตการณ์ที่ชาวเมียนมาเผชิญอยู่” นางเชอร์แมนกล่าวระหว่างการสนทนากับสื่อมวลชนทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ (2 มิ.ย.)

“อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจเช่นกันว่าบางครั้งการทูตต้องใช้เวลาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะดำเนินการต่อไปได้อย่างสำเร็จ เราจึงมั่นใจว่าจะมีการดำเนินการต่อไปได้ และมั่นใจว่าประชาคมนานาชาติจะสนับสนุนการทำงานของอาเซียน และทำงานร่วมกันเพื่อให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการเจรจาและรับทราบว่า เมียนมาต้องกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยตามที่ประชาชนเลือก” เธอกล่าว

รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ สนับสนุนฉันทามติห้าข้อของอาเซียนจากการประชุมวาระพิเศษที่อินโดนีเซียเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ที่เธอกล่าวว่า “ค่อนข้างผิดแปลกไปจากประวัติศาสตร์ของอาเซียนที่ปกติมักต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศ”และรับทราบว่าอาเซียนกำลังหารือกับทุกฝ่ายในภูมิภาคเพื่อให้ดำนเเนินการเป็นผลสำเร็จ

“แผนดังกล่าวระบุให้ทุกฝ่ายติดต่อกับผู้นำทหารในเมียนมา เช่นเดียวกับทุกฝ่ายรวมถึงฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา เราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เรารอไม่ได้ในขณะที่มีวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมร้ายแรงต่อชาวเมียนมา” นางเชอร์แมนระบุ พร้อมย้ำว่า สถานการณ์ในเมียนมาทั้งการโจมตีพลเรือนโดยกองทัพและวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เมียนมาไปสู่ภาวะล้มเหลวของรัฐ หากยังคงดำเนินต่อไป

เธอยังกล่าวถึงกรณีที่แดเนียล เฟนสเตอร์ และเนธาน มวง สองผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันในเมียนมาที่ถูกทางกองทัพควบคุมตัว โดยระบุว่า สหรัฐฯ กดดันให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวทั้งสองโดยเร็วจนกว่าพวกเขาจะกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย นางเชอร์แมนระบุว่า เธอยังได้หารือถึงประเด็นดังกล่าวต่อรัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนที่เธอหารือด้วย และ “หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ (จากรัฐบาลเหล่านั้น)”

นอกจากนี้ นางเชอร์แมนเดินทางเยือนไทยเมื่อวันอังคารและวันพุธ โดยได้หารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงการต่างประเทศ โดยไดหารือถึงพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และไทย ความท้าทายด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมถึงประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย

421 Views