ขณะนี้ เกาะภูเก็ตได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 2,100 คน ให้เข้ามาสัมผัสความสวยงามของไข่มุกแห่งอันดามันโดยที่ไม่ต้องกักตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวหลายร้อยคนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ได้ เพราะพวกเขาได้รับวัคซีนป้องกันโควิดต่างยี่ห้อกันในโดสที่ 1 และ 2

วีโอเอ ไทย ได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเดินทางถึงภูเก็ตแล้วแต่ต้องมากักตัวในโรงแรม แทนที่จะสามารถท่องเที่ยวตามเเนวทาง ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’

ฮานส์ สกาเลอเวล นักท่องเที่ยวและทันตแพทย์ชาวนอร์เวย์วัย 27 ปี ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวัง จากโรงแรมกักตัวแห่งหนึ่งในเกาะภูเก็ต หลังเขาถูกปฏิเสธเมื่อขอเอกสารเข้าไทย หรือ COE ของโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และต้องมากักตัวภายในห้อง แทนที่จะได้ไปเที่ยวข้างนอกเหมือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนอื่นๆ

ฮานส์บอกว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกไม่ได้รับการต้อนรับในการมาเยือนประเทศไทย เขาเตรียมเอกสารครบหมด ตอนแรกก็ไม่ปัญหาอะไร แต่ก่อนที่จะเดินทางไปภูเก็ตเพียงไม่กี่ชั่วโมง ใบ COE ของเขาที่ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นก็ถูกปฏิเสธ…..ตอนนี้เขารู้สึกเหมือนถูกคุมขังอยู่ในคุก”

เหตุผลที่เขาต้องตกอยู่สถานการณ์ดังกล่าวนี้ เพราะเขาได้รับวัคซีนป้องกันโควิดต่างยี่ห้อกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศนอร์เวย์​ เขาได้รับการแจกจ่ายวัคซีน แอสตราเซเนกา โดสที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นประเทศของเขาก็ระงับการฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าวเหมือนกับบางประเทศในทวีปยุโรปในเดือนถัดมา เนื่องจากความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน ฮานส์จึงได้รับวัคซีนของ ไฟเซอร์ เป็นโดสที่สองแทน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนในช่วงหัวค่ำ หรือ 1 วันก่อนที่โครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเริ่มขึ้นนั้น ประกาศของราชกิจนุกเบกษา ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องแสดง “หลักฐานรับรองการได้รับวัคซีน (Certificate of Vaccination) ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด” ซึ่งก่อนหน้านี้นั้น หลายๆ คนเข้าใจว่าหากได้รับวัคซีนที่รับรองโดยองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก็เพียงพอแล้ว

มาตรการดังกล่าวส่งผลให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไม่ผ่านการรับรองวัคซีนและต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับฮานส์ ฮานส์เสริมว่าต้องเสียเงินไปร่วม 60,000 บาทเพราะต้องมาเปลี่ยนโรงแรมในนาทีสุดท้าย

Norwegian Tourist Hans Skallevold (Photo Credit: Hans Skallevold)
Norwegian Tourist Hans Skallevold (Photo Credit: Hans Skallevold)

ทางด้านมัญชรี แสงเมือง แฟนสาวของนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์คนนี้และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ปีที่ 4 ที่คอยช่วยดำเนินการต่างๆจากเมืองไทย เล่าย้อนให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า:

“สถานทูตไทยในนอร์เวย์ก็ส่งมาปฏิเสธในคืนวันที่ 29 ของประเทศไทยตอนเวลาตีสาม หมายความเขาปฏิเสธตอน 2 ทุ่มตามเวลาที่นอร์เวย์ ฉะนั้น ไม่มีเวลาเลยที่เราจะไปทำเอกสารอื่น ถ้าจะให้ไปขอ COE ตอนเช้า ยังไงก็ไม่ทัน เช้าวันนั้นก็เลยโทรหา 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…สุดท้าย ความพยามที่เราโทรหาทุกคนในวันนั้น ตลอดหนึ่งวัน ไม่มีประโยชน์เลย เพราะมันเป็นที่ราชกิจานุเบกษา แบบ last min มากๆ เราก็ต้องบอกแฟนว่า you อยู่ ASQ เถอะ”

แม้ฮานส์จะเกิดและโตที่เมือง Tønsberg ทางตอนใต้ของประเทศนอร์เวย์ แต่เขาก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศไทยและมาเมืองไทยเกือบทุกปี เพราะแม่ของฮานส์นั้นเป็นคนพิษณุโลก

ฮานส์เองก็สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับที่ดี เขาให้คำแนะนำปัญหาเรื่องฟันกับคนไทยในนอร์เวย์ ผ่านเพจบนเฟสบุ๊ค นอกจากนี้ เขายังฝึกงานด้านเวชปฏิบัติที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ที่จังหวัด พิษณุโลกเมื่อปี 2016 และที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2019 อย่างไรก็ตาม ฮานส์ไม่ได้ถือสัญชาติไทย

ฮานส์กล่าวว่า “ไม่มีใครสามารถช่วยเปลี่ยนสถานการณ์ของเขาได้ เขารู้สึกเศร้าและผิดหวังกับระบบของเมืองไทยมาก”

ทั้งนี้ วีโอเอจึงสอบถาม ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษถึงปัญหาดังกล่าว โดยได้รับคำอธิบายว่า:

“ในระยะแรก มันอาจจะมีข้อจำกัดที่เราไม่สามารถจะ accommodate (รองรับ) ทุกคนได้ทั้งหมด หนึ่ง ตั้งแต่ เรื่องวัคซีน เราก็ยืนยันนะครับว่าต้องเป็นวัคซีนที่ อย.ให้การรับรอง อันที่สองต้องเป็นวัคซีนที่ WHO ให้การรับรอง ก็ได้รับการร้องขอว่า เอ้ย อย่างบางประเทศ เนี่ย เค้าฉีดสลับได้ไหม หรือวัคซีนบางตัวในตลาดเราอ่ะ อย่างในประเทศรัสเซียเองเค้าก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนเหมือนคนอื่นเค้า ซึ่งเราก็บอกว่าไม่เป็นไร เราขอรอก่อนในช่วง 2 ถึง 3 เดือนนี้ ขอเป็นอย่างนี้ไปก่อน….

แต่เมื่อมันมีการประเมินออกมาแล้ว มันก็จะมี option มากขึ้น มี alternative มากขึ้นที่จะ accommodate ให้คนสามารถมาภูเก็ตมากขึ้น เราเป็น selective open ทยอยเปิด อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน…ก็ต้องขออภัยแทนบางคนที่ถูกปฏิเสธการออก COE ด้วยครับ ยังไงก็แล้วแต่นะครับ ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่รับเค้าต่อไปในอนาคต”

ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เวียดนาม จับตาดู โครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’

ทางด้าน อภิภัทร์ เปรื่องการ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของสมาคมส่งเสริม​การท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ PATA บอกกับวีโอเอไทยว่า ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีประเทศใดนอกจากไทยที่ทำโครงการนำร่องรูปแบบนี้ หลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย หรือเวียดนาม ที่มีภูมิศาสตร์ในบางพื้นที่เป็นเกาะคล้ายภูเก็ต ก็จับตามองประเทศไทยและพยายามเรียนรู้มาตรการต่างๆ

A list of COVID vaccines and numbers of shots accepted by Thai gov (Phuket Info Center Facebook)
A list of COVID vaccines and numbers of shots accepted by Thai gov (Phuket Info Center Facebook)

ทั้งนี้ องค์กร PATA พูดถึงเรื่องกฎการรับรองวัคซีนของไทยว่า “โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองการเปิดประเทศที่เพิ่งเริ่มขึ้น ในอนาคต มาตรการอาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น หน้าที่สำคัญของรัฐบาล คือ การปกป้องประชาชน และแสดงให้คนในชาติเห็นว่ารัฐบาลตรวจคนที่เข้ามาในประเทศอย่างละเอียด การทำเช่นนี้เป็นการสร้างความสมดุลในด้านความปลอดภัยให้ทั้งประชากรไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ”

สำหรับข่าวจาก เฟสบุ๊ค SHA Plus Phuket ที่มีการดูแลโดย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคมที่ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อเข้าร่วมโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้แล้วนั้น ทางวีโอเอไทยได้ติดต่อไปยังสถานทูตไทยในสหรัฐฯ และได้รับการยืนยันว่า “ยังไม่ได้รับคำสั่งในเรื่องนี้มาอย่างเป็นทางการ”

ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศได้ระบุบในวันพุธที่ 7 กรกฏาคมว่า ได้มีผู้สมัครขอใบ COE ภายใต้โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แล้วถึง 11,381 รายในสัปดาห์แรกของการเปิดโครงการ โดยในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการอนุมัติ 5,300 ราย และ ถูกปฏิเสธ 559 ราย

(รายงานโดย จณิน ภักดีธรรม วีโอเอ ไทย)

VOAThai

786 Views