อดีต 2 เจ้าหน้าที่ ททท. สำนักงานนิวยอร์ก ถูกไล่ออก หลังมีการร้องเรียนเรื่องทุจริตแอบอ้างนำเอกสารประจำตัวของผู้อื่นไปเบิกค่าใช้จ่ายโดยมิชอบ ขณะที่ผู้ร้องทุกข์ซึ่งเป็นชาวไทยในสหรัฐฯเผยหมดเปลือกที่มาและหลักฐาน พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบเพิ่มและไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต

“ เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2019 นะคะ เราก็ได้รับการติดต่อติดต่อจาก ททท. ให้ไปแสดงในงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในวอชิงตันดีซี เราก็จัดนาฏศิลป์และดนตรีไปแสดง พอไปแสดงเสร็จแล้วก็เหมือนปกติค่ะแล้วก็ให้ให้ใบขับขี่กับเจ้าหน้าที่ ททท. แล้วก็เซ็นรับเงินค่าที่เราไปแสดงนาฏศิลป์กับดนตรี”

นางสาวสุธีรา นาควัชระ ผู้ก่อตั้งคณะนาฎศิลป์โสมภา (Somapa Thai Dance Company) ในแถบกรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับ วีโอเอ ภาคภาษาไทย ถึงเหตุผลและที่มาของการร้องเรียน และแจ้งความดำเนินคดี กับอดีตผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. สาขานครนิวยอร์ก ที่แอบอ้างใช้สำเนาใบขับขี่ของเธอเป็นหลักฐานในการเบิกค่าใช้จ่าย โดยไม่ถูกต้องเมื่อปีพุทธศักราช 2562

จับโป๊ะ 4 พันเหรียญฯ แอบอ้างเอกสารเบิกเงินค่าเดินทาง

ทาง ผู้อำนวยการ และ รอง ผอ.ททท. สาขานิวยอร์กค่ะ เอาใบขับขี่ของเราแล้วก็เอาลายเซ็น ก๊อปปี้ ลายเซ็นต์ของเราไปปลอมแปลงเอกสารเพื่อจะบอกว่า เราเนี่ยไปรับจ้างขับรถให้ ททท. คือเป็นค่ารถ ค่าคนขับรถ ค่าตัว 4 พัน เหรียญ(ดอลลาร์ สหรัฐฯ) แล้วก็มีเขียนว่าชื่อดิฉันเป็นคนรับเงิน 4 พันเหรียญนี้ ซึ่งก็คือมันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะว่าตอนนั้นเราก็ไม่ได้อยู่ เราไปเที่ยวเมืองไทยพอดี แล้วเราก็ไม่เคยไปขับรถให้ใครด้วยค่ะ เราก็เลยทราบแล้วล่ะว่ามีเรื่องทุจริต”

คณะนาฎศิลป์โสมภา เป็นกลุ่มนักแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยและเอเชียเพียงไม่กี่คณะในแถบกรุงวอชิงตัน ที่มักจะได้รับการติดต่อให้ไปแสดงในงานต่างๆ ในสหรัฐฯ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะจากหน่วยงานของไทย เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจำเป็นต้องมอบสำเนาเอกสารเป็นหลักฐานในการรับค่าตอบแทน

A co-founder and a performer of the Somapa Thai Dance Company, Suteera Nagavajara (center) performs the Thai classical song - Mayura Pirom or Dance of a Peacock during the DC Travel Show event at the Washington Convention Center, Washington, DC. March 17,
สุธีรา นาควัชระ (กลาง) ผู้ร่วมก่อตั้งและนักแสดงจากบริษัทโสมภารำไทย แสดงเพลงไทยคลาสสิก – มยุรา ภิรมย์ หรือนาฏศิลป์นกยูง ในงาน DC Travel Show ที่ Washington Convention Center กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 17 มีนาคม

มีผู้เสียหายร่วม เดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียน

สุธีรา ทราบด้วยว่า เธอไม่ใช่คนเดียวที่ถูกแอบอ้างนำเอกสารไปเบิกจ่ายเท็จ แต่มีคนไทยในรัฐแมสซาชูเซทส์อีกคน ที่ตกในชะตากรรมเดียวกัน

ผู้เสียหายทั้งสองจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับต้นสังกัดคือ สำนักงาน ททท. ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ดูแลในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐของไทย

“ ในที่สุดก็สามารถที่จะติดต่อกับผู้ว่าการการท่องเที่ยวได้ แล้วก็ท่านผู้ว่าก็โทรศัพท์ กับรองผู้ว่าการฯ ททท. ในตอนนั้นน่ะก็โทรศัพท์มาคุยกับเรานะ บอกว่าจะมีการสอบสวนเรา ก็หลังจากนั้นก็เราก็อยู่ในกระบวนการสอบสวนค่ะ”

แจ้ง ตำรวจ- เอฟบีไอ ทันที หลังคู่กรณีพยายามติดต่อ

ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจสหรัฐฯ และ สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI ของสหรัฐฯ

แต่ว่าสิ่งที่มันทำให้เราต้องไปต้องไปแจ้งตำรวจ เพราะว่าผู้ที่เอาลายเซ็นกับใบขับขี่เราไปปลอมแปลงเนี่ยพยายามติดต่อเรา คือเขาพยายาม เท็กส์ (ส่งข้อความ) มาหาเรา บอกว่าเขาจะขับรถมาหาเราที่บ้านจากนิวยอร์ก ตอนนั้นพอเรารู้ว่าเขาจะมาหาเราถึงที่บ้านเราเริ่มกลัวแล้ว เพราะตอนนั้นเขาทราบแล้วว่าเรารู้เรื่อง เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าคนที่เขามีส่วนได้เสียเรื่องนี้ อาจจะแบบ….ไม่ทราบว่า (คิด) ยังไงนะ แต่ทำให้เรากลัวเ เราก็เลยแจ้งตำรวจไว้ก่อน ตำรวจมาที่บ้านนะคะ แล้วก็บอกว่าถ้าเกิดว่ามีใครขับรถมาจากนิวยอร์กเนี่ยให้โทรหาเขาเลย เขาจะมา” สุธีรา กล่าว

ร้องทุจริต อดีต ผอ.ททท.นิวยอร์กแอบอ้างใช้เอกสารเท็จเบิกเงินหลวง

ผู้ว่าฯ ททท. ระบุ ‘ไล่ออก’ แล้ว แต่ขอให้ตรวจการทุจริตรายอื่นๆด้วย

ผู้สื่อข่าว ‘วีโอเอ ไทย’ พยายามติดต่อไปยังสำนักงาน ททท.ที่กรุงเทพฯ และโทรศัพท์พูดคุยกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. โดยได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “กรณีดังกล่าวทาง ททท. ได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้ว และมีคำสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง”

เช่นเดียวกับ นางสาวสุธีรา ที่บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอได้รับการแจ้งถึงการดำเนินการของ ทาง ททท. กับเจ้าหน้าที่ทั้งสองแล้ว แต่ เธอยังคาดหวังที่อยากเห็นการสอบสวนและตรวจสอบการทุจริตในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีอื่นๆ

“คิดว่าพอใจในระดับหนึ่งนะคะว่า ท่านผู้ว่าการ ททท. สอบสวนจริงนะคะ แล้วก็ติดตามผลให้จริง ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าการ ททท. มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ก็คือพอใจ …แต่ว่าสิ่งที่เราออกมาพูดกับสื่อ มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับว่ากรณีของเรากรณีเดียว

…มีกรณีของเรา มีกรณีของน้องอีกคนนึงที่บอสตัน และ เราอยากจะขอให้ทาง ททท. ช่วยตรวจสอบภายในด้วยว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือเปล่า ..กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า หรือว่ากับคนไทยที่เคยทำงานให้ ททท.ในอเมริกา เขาเคยเจออย่างเราหรือเปล่า ก็อยากจะขอทางให้ทาง ททท. ช่วยดูด้วยว่ามันมีอะไรในระบบที่มันเอื้อกับการให้มีการทุจริตแบบนี้ …

…อันนี้เราไม่ทราบนะคะ คืออยากจะถามเขาว่านโยบายของ ททท. มันเป็นยังไง ถ้าเกิดว่าพนักงานทำผิดกฎหมาย กฎหมายในอเมริกา แล้วนี่คือผิดกฎหมายไทยด้วยนะ คือทุจริตจะเอาเงินของรัฐบาลไทยมาใช้ส่วนตัวใช่ไหมคะ ก็อยากจะถามว่าทางกฎหมายเนี่ย ททท. มีนโยบายอย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องของ ปปช.”

เผยแยกเหตุผลส่วนตัว-ส่วนรวม ต้านทุจริต

นางสาวสุธีรา ซึ่ง ในอีกด้านเธอมีอาชีพหลัก เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยด้านแรงงานเเละการค้ามนุษย์ ของบริษัทที่ปรึกษาการจัดการ นโยบาย วิจัย และยุทธศาสตร์​ ให้กับหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลายแห่ง เธอยืนยันว่า อยากเธอให้กรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับและให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น

“คนชอบถามเราว่าทำไมเราจะต้องออกมาบอกคนอื่นด้วย มันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เราเองก็ไม่ได้เสียเงิน คนที่เสียเงินของรัฐบาลไทยใช่ไหมคะ ถ้างั้นมีเหตุผลหลัก 2 เหตุผลที่เราอยากจะให้คนอื่นทราบ คือ 1) ถ้าเกิดว่าคนหนึ่งทำผิดกฎหมายแบบว่ามีการบอกว่าทุจริตผิดกฎหมาย คือ Identity Fraud เอาของ เอาเอกสารคนอื่น มาปลอมแปลงแล้ว เราก็อยากจะเห็นว่าคนนี้ได้รับได้รับผลทางวินัยหรือทางกฎหมายยังไง อันนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวใช่ไหมคะ คือเอาของเรามาทำใช่ไหม..

.. อย่างที่สอง ที่สำคัญซึ่งสำคัญ อาจจะสำคัญกว่าเหตุผลส่วนตัวด้วยซ้ำ คือเราอยากจะให้ประชาชนไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นเรื่องทุจริตนะคะ เพราะว่าถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย วงเงินนิดเดียวแต่มันเป็น คล้ายกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตในระบบ ถ้าเกิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ได้เนี่ย เราอยากจะให้มันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในระบบที่มันใหญ่ขึ้น แล้วก็ถ้าเกิดว่าประชาชนยิ่งตื่นตัวมากขึ้นนะคะคิดว่าการทุจริตก็คงจะลดลง “

เธอยังยืนยันด้วยว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วแล้วอย่างสหรัฐฯ ถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง และในทางกฎหมายหลายๆ ประเทศ การแอบอ้าง หรือ ขโมยอัตลักษณ์ของบุคคลถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เพราะอาจนำไปสู่การก่อความเสียหายต่างๆ ที่ไม่สามารถประเมินได้

รายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าถึง การร้องเรียนไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสํานักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจเป็นเวลาราวหนึ่งปีแล้ว และยังอยู่ระหว่างชั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง และรอผลการตรวจสอบภายในจากทาง ททท. อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากพบว่ามีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด หากเป็นความผิดทางอาญาก็จะส่งอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อไป

ที่มาข่าว VOAThai

720 Views