เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่ารัฐบาลเยอรมนี “ยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด” หลังกลุ่มผู้ชุมนุมชาวไทยยื่นจดหมายต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ในกรุงเบอร์ลินผู้นี้ มีขึ้นหลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวไทยในนาม “ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อ 14 พ.ย. และตัวแทนผู้ประท้วงได้เข้ายื่นหนังสือกับผู้แทนของสถานทูตบนถนนสาทร
ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกต่อสถานทูตเยอรมนีระบุว่า ประเทศไทย “กำลังเดินถอยหลังสู่การปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ฝ่ายกษัติรย์นิยมพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจปกครองประเทศ ส่วนประชาชนเป็นผู้อยู่อาศัย กำหนดให้ประชาชนมีเพียงสิทธิเลือกตั้ง แต่อำนาจในการปกครอง อำนาจในการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศทั้งหมดกลับไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน เรากำลังปกครองโดยระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไมใช่ระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่ปกครองโดยระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องหยุดยั้งการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์”
การเดินขบวนเมื่อวันอาทิตย์ถือเป็นการจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งแรกภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. 2563 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ซึ่งทั้ง น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และแนวร่วมต่างเห็นคัดค้านกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
การชุมนุมมีขึ้นหลังเว็บไซต์ข่าวนานาชาติหลายแห่งอ้างอิงรายงานข่าวของ บิลด์ (Bild) หนังสือพิมพ์แนวสีสันยักษ์ใหญ่ในเยอรมนีที่รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงเยอรมนีเมื่อ 8 พ.ย. พร้อมกับคณะผู้ติดตาม โดยสำรองที่พักของโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิก
บีบีซีไทยสอบถามไปที่กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ส่วนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่ไม่เปิดเผยนาม บอกกับบีบีซีไทยว่า “เรารับทราบว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเสด็จประทับในเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ในพื้นที่เชงเกน เป็นบางโอกาส”
พื้นที่เชงเกน (Schengen Area) ประกอบด้วย 26 ประเทศในทวีปยุโรปซึ่งตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการเพื่อยกเลิกการใช้หนังสือเดินทางและการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภท โดยมีนโยบายการตรวจลงตราร่วมกันสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศสมาชิก
เจ้าหน้าที่ผู้นี้เสริมว่า หากอยากทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่ใดในขณะนี้ “ขอให้ติดต่อกับหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบในเรื่องนี้”
เมื่อต้นเดือน ม.ค. ปีนี้ รัฐบาลเยอรมนีตอบกระทู้ถามของพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้าย กว่า 40 ข้อ ยืนยันว่า กษัตริย์ไทยสามารถประทับในเยอรมนีได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการพำนัก เนื่องจากทรงเป็นประมุขของประเทศ แต่รัฐบาลเยอรมนีไม่ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในเยอรมนีหรือไม่ขณะมีพระบรมราชโองการในเรื่องต่าง ๆ ของไทย
นอกจากนี้ยังระบุว่ารัฐบาลไทยรับมือกับการประท้วงในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างเหมาะสม และได้ขอให้รัฐบาลไทยชี้แจงกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชา และการบังคับให้สูญหายกรณีอื่น ๆ ด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 6 ม.ค. ปีนี้ โดยอ้างกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่ตอบกระทู้ถามของพรรคฝ่ายซ้ายว่า ไม่มีความจำเป็นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงต้องใช้วีซ่าในการเดินทางเข้าเยอรมนี เพราะพระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐ
นอกจากนี้รอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศรายหนึ่งว่า “แม้ว่าประมุขของรัฐต่างประเทศไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าในการเข้าประเทศ เยอรมนีก็มีเสรีภาพในการยินยอมให้พำนักอยู่หรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นอธิปไตยเหนือดินแดนของเยอรมนี”
ในประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าวกับบีบีซีไทยว่า “ประมุขของประเทศต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบวีซ่าปกติ”
แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอื่นของประเทศแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุว่า “บุคคลใดก็ตามที่พำนักอยู่บนดินแดนของเยอรมนี ไม่ว่าดำรงสถานะเช่นไร ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของเยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศได้สื่อสารชัดเจนไปที่รัฐบาลไทยว่า ต้องไม่มีการตัดสินใจใด ๆ บนดินแดนของเยอรมนี โดยผู้แทนชาวต่างประเทศที่จะขัดแย้งกับกฎหมายของเยอรมนี และกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ” เมื่อ 26 ต.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลเยอรมนีแถลงที่กรุงเบอร์ลินว่า เฝ้าติดตามพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ และผู้ต้องการปฏิรูปในกรุงเทพฯ ไปชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างคำพูดนายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยาวัตรของกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง และ “จะเกิดผลสืบเนื่องทันที หากเรา ประเมินแล้วว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย”
รอยเตอร์รายงานว่ารัฐบาลเยอรมนีแถลงไปหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจทางการเมืองขณะพำนักอยู่บนดินแดนเยอรมนี