
นับตั้งแต่ปิดตัวลงเมื่อปี 2561 สนามม้านางเลิ้งได้เข้าสู่กระบวนการแปลงโฉมเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของคนกรุงเทพมหานครในนาม “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567
วันนี้ (5 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ และจะทรงปลูกต้นไม้พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนรับเสด็จด้วย
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นี้จะไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าและน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
บีบีซีไทยประมวล 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมจากสนามม้านางเลิ้งสู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9
102 ปี ตำนานสนามม้านางเลิ้ง
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวประวัติศาสตร์บนพื้นที่ 279 ไร่ บนถนนพิษณุโลก เขตดุสิต เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2459 เมื่อพระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งสโมสรสนามม้าแข่งไทยเพื่อให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทยและนำรายได้มาใช้บำรุงพันธุ์ม้าจากออสเตรเลียและอังกฤษ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตพร้อมทั้งได้พระราชทานนามในขณะนั้นว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม”

ที่มาของภาพ,NURPHOTO/GETTY IMAGES
ปิดตัวเพราะขาดทุนสะสม 1.3 พันล้าน
ระยะหลัง กิจการของสนามม้านางเลิ้งเริ่มซบเซา แม้จะมีความพยายามหารายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการกีฬาหลากหลายประเภทและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น สนามเทนนิส สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยงต่าง ๆ แต่สนามม้านางเลิ้งก็ยังประสบกับปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องกว่า 1,300 ล้านบาท
การขาดทุนนี้เกิดจากหลายปัจจัย แต่เหตุผลหนึ่งที่สื่อมวลชนรายงานคือ การที่ต้องส่งภาษีเข้ารัฐจำนวนมาก แม้ทางผู้บริหารราชตฤณมัยสมาคมฯ จะเคยทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอจ่ายภาษีลดลง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต

ที่มาของภาพ,NURPHOTO/GETTY IMAGES
พัฒนาสู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9-สมเด็จพระพันปีหลวง
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่สนามม้านางเลิ้งเดิม ซึ่งเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธย มาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ที่มาของภาพ,GOOGLE MAP/หน่วยงานราชการในพระองค์
“…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ…”
(พระราชดำรัสสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อ. ล่องดาว จ. สกลนคร)

ที่มาของภาพ,SOPA IMAGES/LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES

ที่มาของภาพ,SOPA IMAGES/LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES

ที่มาของภาพ,SOPA IMAGES/LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร. 9 คือ หัวใจของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
ภายในพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีการเริ่มพัฒนาแบบมาตั้งแต่ปี 2561 มีจุดเด่นสำคัญ คือ “พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

ที่มาของภาพ,หน่วยงานราชการในพระองค์
การออกแบบภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อาทิ การออกแบบบ่อน้ำและสะพานเป็นเลข ๙ สะพานหยดน้ำพระทัย และสะพานไม้เจาะบากง ซึ่งจำลองมาจากสะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2524 ที่บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

ที่มาของภาพ,หน่วยงานราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ,หน่วยงานราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ,หน่วยงานราชการในพระองค์
สวนแห่งความสุข และความยั่งยืน
จากแบบการก่อสร้างได้ออกแบบอุทยานแห่งนี้ให้สะท้อนหลักการบริการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากต้นน้ำ ผ่านฝายชะลอน้ำ และแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ส่วนกลางน้ำ ผ่านโครงการแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา และพื้นที่พืชชุ่มน้ำ และปลายน้ำ ผ่านแปลงพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อปลานิลและการใช้พืชกรองน้ำ

ที่มาของภาพ,หน่วยงานราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ,GOOGLE MAP/หน่วยงานราชการในพระองค์