โจ ไบเดน
ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ,“ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เราต้องปกป้อง ต่อสู้เพื่อให้ได้มา สร้างความเข้มแข็ง และรื้อฟื้นมันขึ้นมา” นายโจ ไบเดน เคยกล่าวไว้หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2564

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้ (9 ธ.ค.)

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน บ้างสนใจเพราะเป็น 1 ใน 110 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่จะเข้าร่วม บ้างสนใจเพราะไม่ได้รับคำเชิญ และบ้างหันมามองการประชุมนี้เพราะการโปรโมทของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประชาสัมพันธ์ว่างานนี้เป็นดำริของประธานาธิบดีไบเดนที่ประกาศจุดยืนเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

การประชุมทางไกลออนไลน์นี้ใช้เวลา 2 วัน โดยไฮไลต์จะอยู่ที่การประกาศแผนดำเนินการและคำมั่นสัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าด้วยการส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพสื่อ และการต่อต้านการทุจริต นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมก็จะกล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย

สิ่งที่ทำให้การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีสีสันตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม อยู่ที่รายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญและไม่ได้รับเชิญ ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์และคำถามมากมาย

สื่อด้านการเมืองชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง Politico เขียนบทความวิจารณ์รายชื่อประเทศที่รัฐบาลไบเดนเชิญเข้าร่วมว่าบางประเทศอย่างโปแลนด์ ฟิลิปปินส์ บราซิล อินเดีย มีกรณีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็กลับได้รับคำเชิญ และผู้นำประเทศที่มีประวัติน่ากังขาเหล่านี้ก็อาจใช้บัตรเชิญของไบเดนเป็นเสมือนใบรับรองความเป็นประชาธิปไตยให้ตัวเอง

ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้รับเชิญก็มีท่าทีต่างกันไป อย่างเช่นจีนประกาศว่าจะจัดเวทีประชาธิปไตยของตัวเองช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ จัดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย เพื่อตอกย้ำว่า “ระบอบจีน” นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า

สำนักข่าวเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ทางการจีนคนหนึ่งว่าพลเมืองจีนไม่ชอบและไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยของนายไบเดนนี้คืออะไร และทำไมประเทศถึงได้รับเชิญ บางประเทศไม่ได้รับเชิญ บีบีซีไทยหาคำตอบมาจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ

คำพูดของนายดอน รมว. ต่างประเทศ
คำบรรยายภาพ,กต. เผยแพร่คำพูดของนายดอน รมว. ต่างประเทศต่อการที่สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยคืออะไร

  • การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยเป็นความคิดริเริ่มของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของเขายกให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศ
  • การประชุมจะจัดแบบออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งจะหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยและการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม 2) ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ 3) ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
  • รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าการประชุมนี้จะเป็นโอกาสให้ได้รับฟัง เรียนรู้ และพูดถึงสิ่งที่ท้าทายประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ
  • ผู้แทนรัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ จะให้คำมั่นสัญญาในการร่วมกันผลักดันประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก

จัดที่ไหน-เมื่อไหร่

การประชุดสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยจะมีขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประชุมทางไกลออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (www.state.gov) ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งใจจะให้ผู้เข้าร่วมเดินทางมาเจอกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนั้นด้วย ระหว่างการประชุมครั้งที่ 1 และ 2 นายไบเดนจะประกาศให้เป็น “ปีแห่งการลงมือทำ” (Year of Action) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายในการรื้อฟื้นประชาธิปไตย

ใครเข้าร่วมบ้าง

ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐบาล ภาคเอกชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และผู้นำรุ่นใหม่ องค์กรพหุภาคีที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ดูรายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมได้ ที่นี่

จะมีคำประกาศอะไรหรือไม่

  • ผู้เข้าร่วมประชุมจะประกาศคำมั่นสัญญาในการสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในประเทศของตัวเองและประเทศอื่น ๆ
  • รัฐบาลสหรัฐฯ จะประกาศแผนงานและคำมั่นสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพสื่อ ต่อต้านการทุจริต สนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ผลักดันการมีบทบาทางการเมืองของสตรี เด็กหญิงและคนชายขอบ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย

ทำไมบางประเทศถึงได้รับเชิญ แต่บางประเทศไม่ได้

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่เขียนชี้แจงไว้ในเว็บไซต์ว่า

  • สหรัฐฯ ทาบทามประเทศในหลากหลายภูมิภาค ทั้งที่มีประชาธิปไตยที่มั่นคงยาวนานและประชาธิปไตยในระยะเริ่มต้น ซึ่งความก้าวหน้าและคำมั่นสัญญาของประเทศเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขขึ้นในโลก
  • สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุมและรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับความถดถอยของประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการทุจริต ทั้งในกรอบของประชุมสุดยอดและนอกเหนือจากกระบวนการนี้
  • สหรัฐฯ มุ่งทำงานร่วมกับทุกประเทศที่แสดงความตั้งใจจริงในการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย

ไทยบอกดีแล้วที่ไม่เชิญ

มีเพียง 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สหรัฐฯ เชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย คือ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

การที่ไทยไม่ได้รับเชิญ กลายเป็นประเด็นที่สื่อหยิบมานำเสนอและ ส.ส. ฝ่ายค้านยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ทำให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต้องลุกขึ้นมาชี้แจง โดยบอกว่าการประชุมดังกล่าว “เป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ” และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ได้รับเชิญ

“(การประชุมดังกล่าว) เป็นเรื่องของการเมืองที่จะต้องการเล่นงานกันและกัน…บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง เขาก็ไม่ได้รับเชิญด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่ได้แปลก ในแง่ของการไม่ได้รับการเชิญ บางเรื่องเราดีใจด้วยซ้ำไปไม่ต้องมาเชิญเรา บ่อยครั้งถ้าไม่เชิญเราก็บอกว่าดีแล้ว ถ้าเชิญเราก็ต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ไป มันเป็นดาบสองคมในหลาย ๆ กรณีด้วยกัน” นายดอนกล่าวระหว่างตอบกระทู้สดของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย

รมว. ต่างประเทศกล่าวอีกว่าการไม่ได้รับคำเชิญจากสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมา “กระทืบเท้าด้วยความเสียใจ…หรือจะมีคำเชิญแล้วเราต้องลิงโลดที่จะไป ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน ความเป็นจริงทางด้านต่างประเทศ มันไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ”

นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่มาของภาพ,สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี
คำบรรยายภาพ,นายกฯ ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับไทย โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายกฯ เพื่อมอบวัคซีนโควิดของโมเดอร์นาจำนวน 1 ล้านโดสที่สหรัฐ บริจาคให้ไทย

วันต่อมา (26 พ.ย.) นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษก กต. ส่งข้อความถึงผู้สื่อข่าวชี้แจงประเด็น “ไทยไม่ได้รับเชิญ” นี้อีกครั้งว่า ไทยรับทราบเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่การรณรงค์หาเสียง และ “ไทยไม่ได้มีข้อห่วงกังวลว่าจะได้รับเชิญหรือไม่ โดยขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐฯ ในฐานะผู้จัด ที่อาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยในการพิจารณาของตนเอง”

โฆษก กต.ระบุอีกว่า ไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั้งที่ได้รับเชิญและมิได้รับเชิญ และที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น Bali Democracy Forum ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประจำทุกปีและมีบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์มาโดยตลอด

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อคำถามเรื่องไทยไม่ได้รับเชิญยังไม่เงียบหาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงออกมาย้ำเองเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับไทยในฐานะหุ้นส่วน

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังจากนายเท็ด โอซิอุส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทยว่า นักธุรกิจสหรัฐฯ ยังสนใจการลงทุนในไทยเหมือนเดิม “ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น และไม่เคยมีปัญหาอะไรทั้งสิ้นอย่างที่หลายคนไปวิพากษ์วิจารณ์”

นายกฯ บอกด้วยว่านายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจจะเดินทางมาเยือนไทยเร็ว ๆ นี้ ซึ่งล่าสุด กต. ยืนยันแล้วว่านายบลิงเคนจะมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. “เป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ในอาเซียน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ที่มาข่าว BBCThai

915 Views