KNU handout ที่มาของภาพ,KNU HANDOUT
คำบรรยายภาพ, ทหารเมียนมาที่ถูกทหารกะเหรี่ยงจับหลังการปะทะเมื่อ 30 ธ.ค.

กองทัพภาคที่ 3 ประกาศ “โต้ตอบทันที หากมีกองกำลังต่างชาติรุกล้ำอธิปไตยประเทศไทย” หลังการปะทะระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงจนมีกระสุนตกข้ามมาฝั่งไทยหลายครั้ง และมีผู้อพยพหลายพันคนข้ามมาไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย แถลง เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาหาทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยการพูดจาหารือกัน เพื่อยุติการปะทะโดยเร็วที่สุด

ด้านกองกำลังผสมทหารกะเหรี่ยงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ได้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีทหารเมียนมา ในหมู่บ้านเลเตอก่อ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมาตรงข้ามบ้านดอนชัย ตำบลแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ธ.ค. จับกุมทหารเมียนมาและอาวุธได้จำนวนหนึ่ง

KNU handout ที่มาของภาพ,KNU HANDOUT
คำบรรยายภาพ, อาวุธที่ทหารกะเหรี่ยงอ้างว่ายึดมาจากทหารเมียนมาหลังการปะทะเมื่อ 30 ธ.ค.

“โต้ตอบทันที”

กองทัพภาคที่ 3 ของไทย แถลงเมื่อ 30 ธ.ค. ว่า ระหว่าง 16 – 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันหลายครั้ง ระหว่างทหารเมียนมา กับ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army : KNLA) กองพลน้อยที่ 6 ในพื้นที่บ้านเลเก้ก่อ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ด้านตรงข้าม ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กองทัพภาคที่ 3 โดย กองกำลังนเรศวร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาชนในพื้นที่ ได้เพิ่มการลาดตระเวนเดินเท้าพื้นที่ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด ตลอด 24 ชั่วโมง และการลาดตระเวนยานยนต์ เพื่อเฝ้าตรวจ และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ “โดยพร้อมดำเนินการโต้ตอบทันที หากมีกองกำลังต่างชาติรุกล้ำอธิปไตยประเทศไทย”

กองกำลังนเรศวร โดย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 จัดกำลังพล ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ให้ความช่วยเหลือปรับปรุงหลุมหลบภัยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำเมย บ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จำนวน 50 หลุม (50 ครอบครัว) เพื่อเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนไทยในพื้นที่ และร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพบพระ พร้อมด้วยประชาชน ให้ความช่วยเหลือ และซ่อมแซมบ้านเลขที่ 155/1 บ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบ

Thai Third Region Army handout

ที่มาของภาพ,THAI THIRD REGION ARMY HANDOUT

Thai Third Region Army handout ที่มาของภาพ,THAI THIRD REGION ARMY HANDOUT

กะเหรี่ยงปะทะเมียนมาอีก

กองกำลังผสมทหารกะเหรี่ยงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) แถลงเมื่อ 30 ธ.ค. ว่า ในช่วงเช้าได้ร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนเข้าโจมตีทหารเมียนมา ในหมู่บ้านเลเก้ก่อ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านดอนชัย ตำบลแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก โดยเคเอ็นยูใช้อาวุธปืนประจำกาย รวมทั้งอาร์พีจีเข้าโจมตีฝ่ายทหารเมียนมาที่เข้ามาในหมู่บ้านเลเก้ก่อ

เคเอ็นยูจับกุมทหารฝ่ายเมียนมา 7 คน และยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง เช่น ปืนอาร์พีจี. เอ็ม.79 ปืนค. 60 และอาวุธอื่น รวมทั้งกระสุนปืนอีกหลายชนิด

นอกจากนี้ทหารเคเอ็นยูได้ซุ่มโจมตีทหารเมียนมาบริเวณเส้นทางสาย จ.เมียวดี – จ.กอกาเลก ข้างถนนสายเอเชีย ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันนาน 20 นาที ทำให้ทหารเมียนมาเสียชีวิต 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่มาของภาพ,REUTERS
คำบรรยายภาพ, พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

ท่าทีกระทรวงการต่างประเทศไทย

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อ 30 ธ.ค. ว่า ไทยมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อการปะทะในพื้นที่ครั้งล่าสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อฝั่งไทย โดยไทยเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา หาทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยการพูดจาหารือกัน เพื่อยุติการปะทะ โดยเร็วที่สุด และต้องการเห็นสันติภาพ และเสถียรภาพกลับคืนสู่พื้นที่ชายแดน เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดน มีความปลอดภัยและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมพื้นฐาน แก่ชาวเมียนมา ที่หลบหนีเข้ามาใน จ.ตาก เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของทางการไทย และประเพณีด้านมนุษยธรรมที่ยาวนานของไทย” นายธานีกล่าวกระทรวงการต่างประเทศของไทยประกาศสนับสนุนความพยายามของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน และกัมพูชา ในวาระต่อไป ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาโดยสันติ และผลักดันให้มีความคืบหน้า ในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ของผู้นำอาเซียนที่บรรลุร่วมกันในการประชุมเมื่อ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่

  • ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด
  • ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  • ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  • อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center)
  • ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ไทยหวังว่า ความพยายามของกัมพูชาจะทำให้กระบวนการของอาเซียนในเรื่องนี้ มีความคืบหน้าที่เป็นบวก” นายธานีกล่าว

BBCThai

460 Views