สิงคโปร์แอร์โชว์ หรืองานแสดงอากาศยานนานาชาติที่สิงคโปร์ ระหว่าง 15-18 ก.พ. ได้ต้อนรับบุคคลสำคัญในแวดวงการบินพลเรือนและทหารมากมายจากชาติในเอเชียและแปซิฟิก

หนึ่งในนั้นคือคณะของ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศของไทย ผู้ประกาศความประสงค์ที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 มาทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าของกองทัพอย่าง เอฟ-5 และ เอฟ-16

สื่อมวลชนไทยเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อ. นภาเดช เมื่อ 31 ธ.ค. ว่า ไทยควรรีบซื้อในขณะนี้ ในช่วงที่ราคาเครื่องบินลดลงจากเดิมที่ 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ลำ ลงมาเหลือ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ลำ

ไม่กี่วันหลังคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทอ. เมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 13,800 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่จำนวน 4 ลำ ทว่าไม่ได้มีการระบุว่าจะเป็นเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ของล็อกฮีด มาร์ติน หรือไม่

ทิม คาฮิล รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจของล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทผู้ผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์สัญชาติอเมริกัน กล่าวที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์เมี่อ 16 ก.พ. ว่ารัฐบาลไทยได้ยื่นความประสงค์ในการขอซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 จริง ทว่า “ยังไม่มีอะไรเป็นทางการ” ในเวลานี้

คาฮิล ชี้ว่า “อำนาจการตัดสินเรื่องนโยบายเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ” พร้อมเสริมว่า “ผมมองว่ามันมีโอกาสอยู่ แต่ผมไม่รู้จริง ๆ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสินใจอย่างไร”

ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่าจะยังไม่มีการยืนยันหรือแสดงความคิดเห็นอะไรทั้งสิ้นจนกว่าเรื่องจะเข้าสู่รัฐสภา

F-35A Lightning II aircraft

เหตุใด สหรัฐฯ จึงสงวนท่าที

เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก และนับจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ตัดสินใจขาย เอฟ-35 ให้กับกองทัพของประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดเท่านั้น

ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียงแค่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เท่านั้น ที่ได้ครอบครอง เอฟ-35

เอียน สตอเรย์ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS) ในสิงคโปร์ กล่าวกับ เว็บไซต์เรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia – rfa) องค์กรข่าวที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐสภาอเมริกัน ว่า แม้ไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับคำขอซื้อของกองทัพ “แต่สหรัฐฯ ยังคงกังวลว่าเทคโนโลยีอ่อนไหวในเครื่องบินรบอาจถูกกองทัพไทยถ่ายโอนให้กับจีนได้”

ในรายงานของ rfa ริชาร์ด บิตซิงเกอร์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปกองทัพ จากสถาบันการศึกษาการป้องกันและยุทธศาสตร์ (RSIS) ในสิงคโปร์ ยกตัวอย่างด้วยว่า ความกังวลในทำนองเดียวกันเคยทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจปฏิเสธคำของซื้อเครื่องบินรบ เอฟ-35 จากรัฐบาลตุรกีเช่นเดียวกัน เนื่องจากตุรกี “สนิทสนมกับรัสเซียมากเกินไป”

แถลงการณ์จากทำเนียบขาวในเวลานั้นระบุว่า “เอฟ-35 ไม่อาจอยู่ร่วมบนแพลตฟอร์มเดียวกับหน่วยสืบราชการลับของรัสเซียที่คอยจะเรียนรู้ความสามารถขั้นสูง [ของยุทโธปกรณ์] ได้”

บิตซิงเกอร์ชี้ว่า ที่ผ่านมากองทัพไทยได้จัดซื้อยุทโปกรณ์จำนวนมากจากจีน อาทิ เรือรบ เรือดำน้ำ รวมไปถึงรถถัง “ซึ่งไปเพิ่มความกังวลให้กับ [รัฐบาลสหรัฐฯ] ต่อประเด็นความอ่อนไหวทางเทคโนโลยีของ เอฟ-35”

“ผมไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะเชื่อใจไทยขนาดนั้น” บิตซิงเกอร์ ชี้

F-35B Lightning II jet in flight

นักวิชาการไทยว่าอย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาล และรัฐสภาของสหรัฐฯ จะอนุมัติขายให้ไทยหรือไม่เป็นเรื่องที่พูดยาก ถ้าทางสหรัฐฯ นำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยมาเกี่ยวข้อง ก็คงผ่านยาก แต่ที่แน่นอนคือ เอฟ-35 ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงไทย ถ้าไทยต้องการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่เพิ่มขึ้น น่าจะพิจารณาซื้อกริพเพน (Gripen) ของสวีเดนที่กำลังใช้อยู่ หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็นแนวของสหรัฐฯ ก็ควรซื้อ เอฟ-15 ที่ถูกกว่ามากและน่าจะเหมาะกว่า หรือแม้กระทั่งเครื่องบินขับไล่ ราฟาล (Rafale) ของฝรั่งเศสก็น่าจะเหมาะกว่าสำหรับยุทธศาสตร์ไทย ดูตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออินโดนีเซียที่กำลังพิจารณา ระหว่าง เอฟ-15 กับ ราฟาล

“เอฟ-35 มีอะไรคล้ายกับการซื้อเรือดำน้ำ เป็นของแพง ดูโก้ เท่ แต่ไม่สมเหตุสมผลกับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศไทย”

ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า แนวคิดเรื่องภัยความมั่นคงของไทยต่างจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ต่างมี เอฟ-35 ไว้ในครอบครอง เนื่องจากไทยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน และไม่มีปัญหาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เขาเห็นว่าภัยความมั่นคงใหญ่ของไทยคือความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายมากว่าสองทศวรรษ รวมทั้งเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด

ศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์

ตกในทะเลจีนใต้

ความกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อการรั่วไหลของเทคโนโลยีขั้นสูงใน เอฟ-35 ยังเห็นได้จากเหตุการณ์เครื่องบินตกเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

เครื่องบินรบเอฟ-35 ซี ที่มีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ “เกิดอุบัติเหตุ” ระหว่างการบินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินซัน (USS Carl Vinson) ก่อนตกลงไปในทะเลจีนใต้

ไม่เพียงแค่ เอฟ-35 ซี จะเป็นหนึ่งในเครื่องบินรุ่นใหม่ที่สุดของกองทัพเรือ แต่ยังเป็นเครื่องบินรบที่เต็มไปด้วยยุทโธปกรณ์ลับสุดยอดเช่นกัน

เมื่อแหล่งรวมเทคโนโลยีขั้นสูงตกลงไปกลางทะเลนานาชาติ ใครเก็บกู้ได้ก่อนก็ย่อมได้เทคโนโลยีในนั้นไปครอง

ขณะที่กองทัพเรือของสหรัฐฯ เลือกจะไม่เปิดเผยตำแหน่งที่ เอฟ-35 ซี จมลง หรือระยะเวลาคาดการณ์ในการกู้คืน ฝั่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาแถลงว่า “เราไม่ได้สนใจเครื่องบินรบของพวกเขา”

ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ กล่าวว่ากองทัพจีนย่อม “กระตือรือร้นอย่างมาก” ในการครอบครองเครื่องบินรบลำนั้น

อะบี อัสเต็ม ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการรุกรานชี้ว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่สหรัฐฯ จะต้องกู้ซากกลับมาให้ได้” เธอยังเสริมด้วยว่า “เอฟ-35 ก็คือคอมพิวเตอ

ยูเออี ยังเป็นประเทศสมาชิกขององค์กรกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนับเป็นประเทศชายฝั่งขนาดเล็กของอ่าวเปอร์เซียที่มีความมั่งคั่งสูง ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของ ยูเออี ในปี 2020 อยู่ 66,771 ดอลลาร์สากล (current international dollar) มากกว่าสหราชอาณาจักรที่อยู่ในระดับ 46,482 ดอลลาร์สากลเท่าน้ัน

ตามจดหมายที่ส่งถึงกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ข้อตกลงซื้อ เอฟ-35 ยังไม่ถูกปัดตกไปทั้งหมด แต่อยู่ในสภาวะที่เปราะบางอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ออกมาชี้แจงว่าความร่วมมือของสหรัฐฯ และยูเออี ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าแค่การซื้อขายยุทโธปกรณ์ธรรมดา

ด้านตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ชี้ว่า “เราหวังว่าเราจะหาทางออกในปัญหาที่มีอยู่ร่วมกันได้”

ชาติในเอเชีย-แปซิฟิก มี เอฟ-35 มากแค่ไหน

เมื่อ 27 ต.ค. ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่า “เรามองเห็นอินโด-แปซิฟิกทั้เปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง และมั่นคง และเราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพวกท่านแต่ละคนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น”

ในเอกสารข้อเท็จจริง: ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา ช่วงที่กล่าวถึงความมั่นคง ยังมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า “เราจะสร้างเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยใช้อำนาจทุกรูปแบบที่มี เพื่อยับยั้งการรุกรานและเพื่อตอบโต้การบีบบังคับ”

เมื่อย้อนกลับดูกองทัพที่ครอบครองเครื่องบินรบ เอฟ-35 ซี จะพบความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้ไม่ยาก

ตามข้อมูลจาก Aviation International News ออสเตรเลียสั่งซื้อเครื่องบินรบเอฟ-35A ไปทั้งหมด 72 ลำ มีการส่งมอบเครื่องบินขับไล่ไปแล้ว 44 ลำ ในช่วงปลายปีที่แล้วกองทัพอากาศออสเตรเลียคาดว่าจะมีการส่งมอบฝูงบินเอฟ-35 ครบถ้วนภายในสิ้นปี 2023 ทั้งยังวางแผนที่จะซื้อเพิ่มในอนาคต

ด้านญี่ปุ่นซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความพยายามขยายอนาเขตของจีน ตัดสินใจสั่งซื้อ เอฟ-35 เพิ่มทั้งสิ้น 105 ลำ เมื่อ ธ.ค. 2018 ในจำนวนนั้น แบ่งเป็น เอฟ-35 เอ 63 ลำ และ เอฟ-35 บี STOVL อีก 42 ลำ ก่อนคำสั่งซื้อดังกล่าว ญี่ปุ่นมี เอฟ-35 เอ ในครอบครองอยู่แล้ว 42 ลำ

ขณะที่เกาหลีใต้ซึ่งสั่งซื้อ เอฟ-35 เอ 40 ลำ ไปในปี 2014 และรัฐบาลอนุมัติให้ซื้อเพิ่มอีก 20 ลำไปแล้ว ก็กำลังตัดสินใจสั่งจะซื้อ เอฟ-35 บีเพิ่มเติมด้วย

สิงคโปร์กลายมาเป็นประเทศล่าสุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ได้ครอบครอง เอฟ-35 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการสั่งซื้อใน เอฟ-35 บี จำนวน 12 ลำ กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติคำสั่งซื้อดังกล่าวเมื่อเดือน ม.ค. 2020 และจะมีการส่งมอบกันในปี 2026

Graphic showing specifications of F-35A Lightning II
263 Views