A Ukrainian serviceman holds a machine gun at a town in Donetsk
 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศเมื่อ 21 ก.พ. ให้การรับรอง 2 พื้นที่อิทธิพลของกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนให้เป็นรัฐเอกราช

กองกำลังฝ่ายกบฏที่รัสเซียหนุนหลังยึดเมืองดอแนสก์ และลูฮานสก์ สถาปนาให้เป็นสาธารณรัฐประชาชน และเป็นฐานที่มั่นในการปะทะกับกองกำลังของยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014

ความเคลื่อนไหวของรัสเซียครั้งนี้มีแนวโน้มจะทำให้แผนเจรจาเพื่อนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้ต้องสะดุดลง แม้มีความพยายามให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบมาหลายปี บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างเกรงว่าการประกาศของนายปูตินจะเปิดทางให้กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลเข้าสู่ทางภูมิภาคฝั่งตะวันออกของยูเครน หลังคำประกาศ นายปูตินได้ลงนามคำสั่งให้กองทัพเข้าปฏิบัติหน้าที่ “รักษาสันติภาพ” ในทั้ง 2 เมือง ในขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าคำสั่งนี้จะครอบคลุมพันธกิจเพียงไร แต่ถ้ามีการเคลื่อนกำลังพลจริง จะถือเป็นครั้งแรกที่ทหารของรัสเซียได้เข้าไปอยู่ในดินแดนของฝ่ายกบฏอย่างเป็นทางการ

EPA

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียนี้คือการ “ละเมิดเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างชัดเจน” อีกทั้งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ

นางลิซ ทรัสส์ รมว. ต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะประกาศมาตรการคว่าบาตรชุดใหม่ต่อรัสเซียในวันที่ 22 ก.พ. สหภาพยุโรปให้คำมั่นว่าจะ “ตอบโต้อย่างมีเอกภาพ แข็งขัน และด้วยความมุ่งมั่นในภราดรภาพที่มีต่อยูเครน” คำสั่งของประธานาธิบดีปูตินมีขึ้นหลังจากที่รัสเซียคงยืนกรานว่าไม่มีแผนบุกยูเครน แต่สหรัฐฯ กลับย้ำเตือนชาวโลกว่า รัสเซียอาจลงมือโจมตียูเครนได้ทุกขณะ และผู้นำสหราชอาณาจักรเผยว่า รัสเซียกำลังเตรียมการครั้งใหญ่เพื่อให้กองกำลังที่วางไว้เกือบ 190,000 คน บริเวณแนวชายแดน พร้อมบุกได้ในทันทีที่มีคำสั่ง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกประชุมฉุกเฉิน

การรับรอง 2 พื้นที่อิทธิพลของกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนให้เป็นรัฐเอกราชของผู้นำรัสเซียได้ส่งผลทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เรียกประชุมฉุกเฉินในเวลา 21.00 น. ของวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ตามเวลาในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ หรือเวลา 9.00 น. เวลาในไทย เนื่องจากมีหลายชาติเรียกร้องให้เกิดการหารือ ขณะที่ทางการยูเครนก็แสดงความต้องการเช่นกันผ่านหนังสือที่ระบุว่า มีตัวแทนสามารถร่วมการประชุมดังกล่าวได้ แม้ว่ายูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิก 15 ประเทศของ UNSC ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม รัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรที่มีสิทธิคัดค้าน (Veto) มติใด ๆ ได้ ดังนั้น จึงไม่มีความชัดเจนมากนักว่า UNSC จะสามารถบรรลุมติใด ๆ ในการประชุมครั้งนี้ได้ ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่าทางการสหรัฐฯ ได้ย้ายนักการทูตที่เหลือในยูเครนไปยังโปแลนด์ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยแล้ว

แผนที่กองกำลังรัสเซีย

ปฏิกิริยาทั่วโลก

  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นที่นครนิวยอร์ก เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์จะลุกลามไปสู่การที่รัสเซียยกทัพรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ
  • นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอริสัน แห่งออสเตรเลียบอกว่า ข้ออ้างของรัสเซียในการส่งกองกำลังเข้าพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏในยูเครน โดยบอกว่าเป็นการรักษาสันติภาพนั้น เป็นข้ออ้างที่เหลวไหลสิ้นดี ส่วนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดในทันที เพื่อปฏิบัติตามพันธกิจที่สหรัฐมีต่ออธิปไตยของยูเครน
  • ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แถลงต่อประชาชนว่า การกระทำของรัสเซียนั้นเท่ากับละเมิดความเป็นเอกราชและบูรณภาพของดินแดนยูเครน พร้อมระบุว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเขตพรมแดนของประเทศ
  • นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ระบุว่าสหราชอาณาจักรจะส่งความสนับสนุนด้านการป้องกันประเทศไปให้ยูเครนเพิ่มเติม หลังจากเมื่อเดือน ม.ค. ได้ส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังพิสัยใกล้ไปให้กระทรวงกลาโหมของยูเครน
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความหวั่นวิตกต่อวิกฤตยูเครนว่าจะทำลายห่วงโซ่อุปทานขอองการผลิตน้ำมันทั่วโลก

สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าที่อ้างอิงอยู่กับน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ไปอยู่ที่เกือบ 98 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากการประกาศรับรองสถานะรัฐเอกราชของดินแดนกบฏในยูเครน

รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย และยังเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติมากที่สุดของโลก ผู้บริหารบริษัทจัดการลงทุนแมนูไลฟ์ บอกว่าความตึงเครียดที่บริเวณชายแดนมีนัยสำคัญต่อราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่บังคับให้รัสเซียป้อนน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติน้อยลง อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของโลก


ไทยเตรียมแผนอพยพคนไทยในยูเครน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ปิดเผยว่า สถานการณ์ในยูเครนกำลังมีความตึงเครียด ทางการไทยหวังว่า จะใช้การเจรจาทางการทูต หารือด้วยสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหา

ส่วนการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน ซึ่งมีอยู่ในราว 250 คน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการประสานงานกับคนไทยในยูเครน และนายจ้างที่มีลูกจ้างคนไทยในยูเครนมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้เตรียมการล่วงหน้าหากเกิดกรณีฉุกเฉินไว้แล้วภายใต้การดูแลของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอของโปแลนด์ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมยูเครน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า เบื้องต้นมีแผนอพยพคนไทยหากเกิดกรณีฉุกเฉิน 3 วิธี ได้แก่ การเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่ออพยพคนไทย การอพยพคนไทยมายังเมืองชายแดนยูเครนติดกับโปแลนด์ เพื่ออพยพเข้าโปแลนด์ต่อไป และการเตรียมการส่งเครื่องบินจากไทย ซึ่งประสานกับการบินไทยไว้แล้วเพื่อไปรับคนไทยในยูเครน

346 Views