ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในไทย ไต่ระดับขึ้นสูงอีกครั้งนับจาการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อยืนยันในระบบรวมกับยอดผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่ตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจนด้วยตนเอง (ATK) ทะลุกว่า 230,000 ราย

แม่ของลูกสาววัย 1 ขวบ 7 เดือน ใน จ.นนทบุรี ที่ไข้ขึ้นสูง โบกผ้าอ้อมหาเตียงให้ลูกที่ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. แต่โรงพยาบาลให้กลับไปรอที่บ้าน ภาพชาย รปภ.ติดโควิด ที่นอนรอเตียงที่หน้าธนาคาร หญิงที่เดินทางมาจาก จ.ตาก แล้วติดโควิดในกรุงเทพฯ มานอนรอเตียงที่บันไดสถานีบีทีเอส บางนา กรณีเหล่านี้ล้วนเป็นภาพของผู้ติดเชื้อโควิดที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการระบาดเมื่อกลางปี 2564

“ลองคิดดูว่า ถ้าเธอตรวจพบเชื้อที่แม่สอด สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นคนรับผิดชอบในการรักษา หรือส่งตัวทั้งหมด ซึ่งกระบวนการส่งตัวรักษาในต่างจังหวัดส่วนใหญ่แล้วเป็นไปอย่างราบรื่น ผ่านระบบรพ.สนาม รพ.สต. รพ.อำเภอ และ รพ. จังหวัด แต่พอเรื่องนี้เกิดในกทม. เมืองที่ความศิวิไลซ์ที่สุดในประเทศ กลับหาเจ้าภาพไม่ได้” กลุ่ม เส้นด้าย – Zendai กลุ่มจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด เขียนเล่าสถานการณ์เตียงใน กทม. ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่กลุ่มอาสา “เส้นด้าย” แต่กลุ่มอาสาช่วยผู้ป่วยโควิดอย่างกลุ่ม “เราต้องรอด” และกลุ่ม “สายไหมต้องรอด” ต่างกำลังเจอสถานการณ์

ผู้ป่วยที่รอการเข้ารักษาในระบบ “เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนเเปลง ฮอสปิเทลหลายเเห่งเริ่มหยุดรับผู้ป่วยเเล้ว หากติดเชื้อจึงไม่สามารถเลือกโรงเเรมได้เหมือนเคย ในกรณีที่จำเป็นต้องเเยกกักตัวสามารถขอเข้าศูนย์พักคอยในเขตของท่าน หรือหากสามารถรักษาตัวที่บ้าน” เพจของกลุ่ม “เราต้องรอด” ระบุเมื่อวันที่ 20 ก.พ. สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่เริ่มมีผู้ป่วยยืนในไทย ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 ขณะที่ตัวเลขการรับวัคซีนโควิด เข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 อยู่ที 28.2% เทียบกับสหราชอาณาจักรที่ยกเว้นข้อจำกัดโควิดเกือบหมดแล้ว อยู่ที่กว่า 60%

ศบค. เตรียมการหากตัวเลขรายวันทะลุ 1 แสนคน

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้เตรียมแผนรองรับ โดยเฉพาะการยกระดับ ระบบการรักษาตัวที่บ้านและศูนย์พักคอยในชุมชน, ฮอสปิเทล และโรงพยาบาลสนาม

ส่วนของโรงพยาบาลหลักนั้น อยากให้ใช้รับรองผู้ป่วยที่อาการน่าเป็นห่วงหรืออาการสีแดงให้ได้เข้าไปรักษา รวมถึงต้องกันไว้สำหรับโรคอื่นด้วย และต้องไม่กระทบกับบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กทม. เพิ่มคู่สายโทรศัพท์ เมื่อถามว่ามีการเตรียมมาตรการหากผู้ติดเชื้อรายวันถึงแสนคนหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าว “มี ตัวเลขการครองเตียง การติดเชื้อจะถูกประเมินทุกวันทำคู่ขนานเป็นเปอร์เซ็นต์ขยับไปเรื่อย ๆ แต่กว่าจะไปถึงสถานการณ์ตอนนั้นต้องมีมาตรการมากกว่านี้ เราคงไม่ได้สร้างโรงพยาบาลสนามรองรับคนเป็นแสนแน่ ๆ กระทรวงสาธารณสุขคิดต่อเนื่องอยู่แล้ว”

facebook/เราต้องรอด

ยอดรวมผู้ติดเชื้อที่รายงานเมื่อ 24 ก.พ. อยู่ที่ 45,569 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อยืนยันที่ตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR อยู่ที่ 23,329 ราย และผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) อยู่ที่ 22,240 ราย สูงสุดในรอบ 7 วันที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่ต่างกับเมื่อ 1 สัปดาห์ที่แล้ว ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 28,022 คน ในจำนวนนี้เป็นยอดจาก ATK เพียงไม่ถึง 10,000 คน

“ยอดผู้ป่วยในทุกประเภทขึ้นตามคาด จนอาจจะเห็นจุดสูงสุดได้ภายในเร็ววันนี้ คาดว่าอาจจะไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนหน้า…” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์บนเฟซบุ๊ก เมื่อ 23 ก.พ.

หมอธีระ คาดติดเชื้อสูงสุด 8.5 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กของเขาว่า สถานการณ์ไทยยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่านโยบายและมาตรการควบคุมโรคนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

นพ.ธีระ หากรวมรายงานจำนวน ATK ที่เห็นในเว็บของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะพบว่าจำนวนติดเชื้อรวมในแต่ละวันทะลุไปเกือบ 2 เท่าของการระบาดระลอกเดลตา นายแพทย์จากจุฬาฯ ให้ความเห็นด้วยว่า จำนวนติดเชื้อในสถานการณ์จริงจะมีมากกว่านั้น เพราะต้องมีการตรวจ ATK ที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ จำนวนติดเชื้อจริงจึงน่าจะมากกว่าที่เห็น โดยที่ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ เพราะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงการตรวจ นพ.ธีระ กล่าวว่า จากธรรมชาติการระบาดของทั่วโลกที่ได้เคยทบทวนและวิเคราะห์ จะพบว่าจำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันในระลอกโอมิครอน จะสูงกว่าการระบาดระลอกเดลตาราว 3.65 เท่า “ไทยเราเคยมีรายงานติดเชื้อ 23,418 คน ณ 13 สิงหาคม 2564 จึงคาดว่าถ้าเราเป็นเหมือนค่ามัธยฐานของประเทศอื่นที่ผ่านพีค Omicron มาแล้ว การติดเชื้อสูงสุดต่อวันอาจอยู่ราว 85,476 คน” อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการการตรวจทั้ง RT-PCR และ ATK ในประเทศย่อมส่งผลโดยตรงต่อจำนวนติดเชื้อที่จะตรวจพบ “พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า ตรวจแค่ไหนก็เจอแค่นั้น”

ทั่วประเทศครองเตียง 50% แต่ กทม. เกือบ 100%

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงเมื่อ 23 ก.พ. ว่า การระบาดของโควิดระลอกต่าง ๆ ที่มียอดการติดเชื้อรายวันสูง และยอดผู้เสียชีวิตสูงมาจากเชื้อเดลตา แต่การระบาดของเชื้อโอไมครอน ถึงแม้มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่อัตราเสียชีวิตรายวันยังต่ำอยู่ เป็นไปตามทิศทางของทั่วโลก

ส่วนทรัพยากรเตียง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากการรายงานของปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์เตียงของผู้ป่วย สีเขียว สีเหลือง สีแดง ก็ยังมีอัตราครองเตียงยังไม่มาก ภาพรวมของทั้งประเทศ ยังมีอัตราการครองเตียงอยู่ 49.1% เพราะฉะนั้น ต้องเอาเตียงต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ให้กับกลุ่มผู้เสี่ยงสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยหนัก แต่ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครระบุว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูง ทำให้สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลในเมืองหลวงที่จะรองรับผู้ป่วยอาการหนักและวิกฤตหรือสีเหลืองและสีแดงเกือบเต็ม 100% แล้ว

facebook/เส้นด้าย - Zendai

ผู้ป่วยข้างถนนใน กทม. พุ่ง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับถึงปัญหาการให้บริการสายด่วน 1330 ด้วยสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อ 23 ก.พ. มีจำนวนสายที่โทรเข้ากว่า 46,000 สาย

สปสช. จิตอาสา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมรับสายมี 300 คน รับสายได้เพียงจำนวน 15,157 สาย และติดต่อกลับอีก 3,480 สายรวมเป็นสายที่ สปสช. ตอบรับจำนวน 18,637 สาย ต้องขอให้ประชาชนแอดไลน์ @nhso หรือสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. แจ้งเข้าระบบรักษาที่บ้าน ปัญหาผู้ป่วยรอเตียงข้างถนนเริ่มปรากฏให้เห็นหลายกรณีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาที่ผู้ติดเชื้อโทรเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นจากผู้ที่ติดต่อผ่านมาทางช่องทางของกลุ่มอาสาเส้นด้าย มื่อสองวันที่ผ่านมา เพจเส้นด้ายระบุว่า เตียงผู้ป่วยสีเขียวเต็มหมด แนวทางคือ การรักษาที่บ้าน โดยลงทะเบียนรับยาภายใน 48 ชม. ส่วนผู้ป่วยสีเขียว แต่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ เช่น กรณีที่เกิดภาพผู้ป่วยข้างถนน แนวทางควรใช้ระบบการกักตัวของชุมชน ส่วนโรงพยาบาลสนามนั้นใกล้เต็มแล้ว

ข้อเสนอของกลุ่มเส้นด้าย คือ รัฐต้องเร่งเปิดโรงพยาบาลสนามและฮอสปิเทลเพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ สั่งการระดับนโยบายให้แต่ละชุมชนเร่งเปิดศูนย์กักตัวในชุมชนหรือ ศูนย์พักคอยให้ครอบคลุมทุกชุมชนมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ติดเชื้อทั้งบ้านหรือติดเชื้อยกครอบครัว และควรเร่งจัดหาเพิ่มงบประมาณเพื่อนำมาเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สายด่วนคอลเซ็นเตอร์

648 Views