ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนักการทูตต่างชาติหลายประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนทางการเมืองกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน ล่าสุด 1 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ไทยต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวัง ใช้กลไกการต่างประเทศ กลไกอาเซียน โดยต้องรักษาสมดุลไว้ พร้อมกับสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้น 1 วัน หลังเอกอัครราชทูตจากหลายประเทศในยุโรป และอุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเพื่อทวงถามจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน
ขณะที่นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตจาก 24 ประเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ถึงการเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศพร้อมข้อความว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด รวมทั้งไทย ควรที่จะออกมาพูด เพื่อรักษากฎระเบียบสากล พร้อมทั้งลงคะแนนเสียงให้มติของสหประชาชาติที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคน
นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อ 1 มี.ค. ว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีได้พูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย สำหรับไทยอาจจะต้องมีการปรับท่าทีบางส่วน เพราะเห็นว่าการประณามของหลายฝ่ายไม่ได้ช่วยอะไร แต่ไทยจะต้องหาจุดที่สามารถช่วยให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ จะต้องหาทางส่งเสริมการพูดคุย ต้องทำให้การพูดคุยมีความต่อเนื่องโดยไม่หยุดนิ่ง
นายดอนกล่าวว่า ไทยมีความโชคดีอย่างหนึ่งคือ เราเป็นเพื่อนกับคนทั้งโลก สามารถพูดคุยกันได้เยอะ แต่คุยแล้วมีน้ำหนักมากหนักแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรามีช่องทางในการพูดคุย ทั้ง อียู รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐอเมริกา มีช่องทาง เพียงแต่บางเรื่องเราต้องปล่อยให้ไหลไปตามเส้นทางธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรีบกระโดดเข้าไปมีบทบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องของเวทียุโรป เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโลก ก็ต้องดูว่า สุดท้ายจะคลี่คลายหรือไม่ และผลที่ตามมากับประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาพลังงานก็จะตามมาแน่นอน เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ซึ่งเราไม่ต้องการเช่นนั้น
ด้าน รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรนานาชาติคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในระหว่างการเสวนาทางออนไลน์ในประเด็น “รัสเซีย” บุก “ยูเครน” : สงครามโลกครั้งที่ 3 ? ได้ตั้งคำถามว่า “ไทยอาจจะต้องถอยกลับมาว่า ไทยจะเล่นเกมแบบไหน ผลประโยชน์ของไทยอยู่ตรงไหน การประกาศตัวเป็นกลางเป็นจุดยืนแบบหนึ่งเหมือนกัน เป็นจุดยืนที่กลางจริง ๆ แบบประเทศฟินแลนด์ หรือเป็นกลางแบบเลือกข้างหนึ่งในคู่ความขัดแย้ง”
นักวิชาการคนนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่หนึ่งการเป็นกลางก็มีความสำคัญ แต่ก็ต้องมีจุดยืนอยู่กับองค์การสหประชาชาติ ยืนอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่เห็นด้วยกับสงครามที่ไม่ชอบธรรม การเรียกร้องให้ใช้วิธีการแบบสันติ เป็นต้น โดยเฉพาะการยึดผลประโยชน์คนไทยเป็นหลัก
“ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ จะถือว่าจุดยืนเป็นกลางอย่างสง่างามในเวทีระหว่างประเทศ” รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าว