การพิจารณาคดีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ที่รู้จักว่า “สารวัตรโจ้” และ ผู้กำกับโจ้” อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ถูกกล่าวหาว่าใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิต ระหว่างสอบปากคำเมื่อช่วงปีที่แล้ว เริ่มใกล้ถึงจุดสิ้นสุดในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้
คดีนี้เป็นที่จับตามองจากทั้งสื่อไทยละต่างชาติในช่วงแรก และลดลงไปมากในขณะนี้ แต่นักสิทธิมนุษยชนอย่างพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโฆษกกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ยังจับตามองคดีนี้อยู่ตลอด
เมื่อ 5 มี.ค. ทีมงานของพรเพ็ญขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานคดีนี้ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมฟังได้เหมือนปกติ
พรเพ็ญออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ พร้อมอธิบายว่าห้องพิจารณาคดีมีหลักการเบื้องต้นว่า ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยใครก็ตามที่เดินทางไปศาล ก็สามารถไปร่วมนั่งฟังได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพราะไม่ถือว่าเป็นลับ
เธออธิบายกับบีบีซีไทยว่าวิธีการสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีอยู่สองแบบคือแบบสาธารณะที่ใคร ๆ ก็เข้าได้ โดยศาลต้องมีวิธีการในการจัดการให้ประชาชนได้รู้ได้เห็นด้วยวิธีใดก็ได้ ส่วนวิธีที่สองคือการสังเกตการณ์คดีแบบต้องการที่จะให้เกิดการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“การทำจดหมายก็เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบ เพราะเราเป็นสาธารณชนแบบองค์กรสิทธิ เป็นมูลนิธิจดทะเบียน ซึ่งดีกว่าการเดินเข้าไปแบบเฉย ๆ” พรเพ็ญอธิบาย
“เราไม่ได้เป็นบุคคลที่จะไปทำอะไรให้เกิดการรบกวนขั้นตอนการพิจารณาคดี แต่การไม่อนุญาตให้เข้า มันทำให้เราคิดว่าคดีนี้ยิ่งมีความสำคัญที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ เราก็เลยต้องการยืนยันที่จะเข้าไปสังเกตการณ์”
ก่อนหน้านี้พรเพ็ญเคยทำหนังสือเข้าไปเมื่อ 7 ก.พ. เพื่อเข้าไปฟังการพิจารณาคดีในนัดแรกเมื่อ19 ก.พ. แต่ถูกปฏิเสธ จากนั้นเธอส่งจดหมายเข้าไปอีกครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับ เธอจึงเดินทางเข้าไปด้วยตัวเองในวันจริง แต่ได้รับแจ้งผ่านโทรศัพท์มาว่าเข้าไม่ได้ ด้วยเหตุผลเรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19
ต่อมาพรเพ็ญได้ให้ตัวแทนของมูลนิธิ ทำจดหมายไปในวันที่ 5 มี.ค. เพื่อขอเข้าร่วมฟังการสืบพยาน แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเดียวกันคือการควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยเธออธิบายเพิ่มเติมว่าตัวแทนของมูลนิธิฯ ถูกเรียกเข้าไปในห้องและแจ้งว่าคู่ความคัดค้าน
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย เพียงแต่ว่าเขาไม่เคารพกฎสากล ว่าการพิจารณาคดีต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และเราก็เป็นสาธารณะที่ทำงานด้านนี้” พรเพ็ญกล่าวเสริม
บีบีซีไทยได้ติดต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อขอคำอธิบายเรื่องนี้ตั้งแต่ 7 มี.ค. แต่จนถึง 8 มี.ค. ยังไม่ได้รับคำตอบ
อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ของศาลได้ลงประกาศเรื่องข้อกำหนดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่าด้วยมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เมื่อ 12 พ.ย. 64 ระบุถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ไว้หลายประการ รวมถึงการจำกัดจำนวนคนเข้าห้องพิจารณาคดีก็เป็นหนึ่งในข้อกำหนดนั้น
หลังจากที่ทางมูลนิธิถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมฟัง พรเพ็ญกล่าวว่าทางศาล ได้แจ้งว่าจะส่งเอกสารเผยแพร่ของทางศาลไปให้หลังการพิจารณาคดี
“จริง ๆ แล้วเอกสารนั้นก็เป็นเพียงแค่การแถลงข่าวของศาล รายละเอียดก็ระบุแค่ว่าวันนี้มีใครมา ใครไม่มา ซึ่งไม่ใช่สิงที่เพียงพอ เพราะจริง ๆ แล้วอยากจะรู้ว่าให้การอย่างไร ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีหรือเปล่า มีโอกาสได้ให้การไหม ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่เราอยากเห็น” พรเพ็ญอธิบาย
“คดีนี้เนื่องจากเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีหลักฐานประจักษ์ชัดแจ้ง ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุดก็คือกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส…ยิ่งพอมาเจอหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยิ่งต้องทำให้กระการยุติธรรมในชั้นศาลให้ยุติธรรมที่สุด โดยทำให้มันโปร่งใสที่สุด”
การพิจารณาคดีนัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 มี.ค. ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีในนัดสุดท้าย และจะมีการกำหนดวันรับฟังคำพิพากษาในเวลาต่อไป โดยพรเพ็ญได้ทำจดหมายขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์เข้าไปด้วย และเธอได้รับแจ้งว่าศาลได้อนุญาตให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เข้ามาร่วมสังเกตการณ์
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่าทางสำนักงาน กสม. ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี และศาลอนุญาตให้เข้าได้ 1 คน โดยจะมีผู้แทนจากสำนักงาน กสม. เป็นระดับผู้บริหารเข้ารับฟังการพิจารณาคดีวันที่ 12-13 มี.ค.
“ทาง กสม.ทำเรื่องขออนุญาตไป และได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ได้คนเดียว โดยได้ส่งเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนสามเข็มไปให้ทางศาลด้วย ทางศาลให้เหตุผลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันจึงจำกัดจำนวนคน” วสันต์อธิบาย