เช้าวันนี้ (25 มี.ค.) เครือข่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ. เอ็นจีโอ นำรายชื่อผู้คัดค้านการออก พ.ร.บ.ดังกล่าวกว่า 13,000 รายชื่อ ที่ร่วมเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไปมอบให้นายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านและไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบ


โดยร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64 ภายใต้ชื่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ….’ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….’ ซึ่งครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 แลกำหนดให้ พม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อส่งกลับไปให้ ครม. มีมติเห็นชอบส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเป็นกฎหมายใช้บังคับในลำดับต่อไป โดยวันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่ พม. จะเปิดรับความคิดเห็นจากสาธารณะ

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ผู้แทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า รัฐบาลไทยต้องยืนยันหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนสามารถรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคมได้ ให้การประกันว่าสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำเนินงาน ต้องปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมของรัฐ เพื่อความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพในการสมาคม

เครือข่ายฯ เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการทำงานเพื่อส่งเสริม คุ้มครองและรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และยังกระทบต่อไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางขององค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คัดค้านร่างพระราชบัญญัติเอ็นจีโอ

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

“ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ได้จัดเวทีเสวนา ประชุม ออกแถลงการณ์ พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความความกังวลและคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้วอย่างน้อย 10 ครั้ง ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด” สุนทรีอธิบาย เธอบอกด้วยว่า

กระบวนการรับฟังความคิดที่รัฐบาลจัดขึ้นไม่มีความชอบธรรมในแง่ของการเข้าถึงของประชาชนอย่างกว้างขวางเพียงพอ

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. เปิดเผยว่า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้สูงอายุ สตรี เด็ก เยาวชน และสภาองค์กรชุมชน โดยมีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วกว่า 5,004 องค์กร (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค. 65) ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ล่าสุด พม. ได้ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2565 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2565

คัดค้านร่างพระราชบัญญัติเอ็นจีโอ

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

นานาชาติไม่เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ผ่านมา วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ให้รัฐบาลไทยยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะหากผ่านสภาก็จะมีกระทบต่อการทำงานอิสระของภาคประชาชน และส่งผลลบต่อการส่งความช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนผ่านไปยังประเทศเมียนมาด้วย

นายเอ็ดเวิร์ด มาร์คีย์ วุฒิสมาชิก และประธานอนุกรรมาธิการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก วุฒิสภาสหรัฐฯ และนายเจฟฟรีย์ เมอร์คลีย์ วุฒิสมาชิก และสมาชิกกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้นำ ส.ว. สหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย และรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อแสดงความกังวลถึงผลกระทบของ ร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ ฉบับดังกล่าว

“หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกาศใช้จริง มันจะเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จำกัดสิทธิเอ็นจีโอมากที่สุดฉบับหนึ่ง ในเอเชีย และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของภาคประชาสังคมไทยอย่างถาวร และมันจะทำลายฐานที่มั่นสุดท้ายในการทำงานของภาคประชาสังคมเมียนมา ดังนั้น เราจึงต้องเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลร่วมกันกดดันให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินการออกกฎหมายที่อันตรายฉบับนี้” ข้อความตอนหนึ่ง ระบุ

แถลงการณ์บนเว็บไซต์ของ ส.ว. มาร์คีย์ ระบุว่า ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ประชาชนเมียนมา 14.4 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พื้นที่รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ชาวเมียนมาได้รับความช่วยเหลือผ่านชายแดน ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ บังคับใช้จริงอาจกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

คัดค้านร่างพระราชบัญญัติเอ็นจีโอ

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ออกถ้อยแถลงที่ระบุถึงสถานการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ไว้ในรายงานประจำปีและการติดตามผลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากการประชุมรอบที่ 49 ของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

บาเชเลต์ระบุในถ้อยแถลงว่า เขารู้สึกผิดหวังจากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมลดลงอย่างมาก รวมถึงมีการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีต่อบุคคลต่างๆ รวมถึงที่เป็นเด็ก เพียงเพราะบุคคลเหล่านั้นใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติของตัวเอง ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือในโลกออฟไลน์

เอ็นจีโอเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ?

ข้อมูลที่ พม. รายงานต่อที่ประชุม ครม. คือ มีองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร (เอ็นจีโอ) ในไทยจดทะเบียนถูกต้องเพียง 87 องค์กร ทำให้การกำกับดูแลไม่ทั่วถึง หลายองค์กรอ้างว่าไม่แสวงหารายได้ฯ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึง “เอ็นจีโอปลอม” ที่รับทุนจากต่างประเทศแล้วจ่ายให้ประชาชนเพียง 30% ส่วนที่เหลือไม่ทราบว่านำไปทำอะไร

ขณะที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) พาดพิง “เอ็นจีโอระหวางประเทศ” 13 องค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” และโจมตีรัฐบาลเรื่องสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง

คัดค้านร่างพระราชบัญญัติเอ็นจีโอ

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

ทั้งหมดนี้เป็นบางข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล ให้มีร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเรียกขานว่า “กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ”

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่า องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ต้องดำเนินการ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดอาญา
  • กำหนดให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ รมว.มหาดไทย กำหนด
  • ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี
  • ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเผยแพร่ต่อสาธารณะ
  • กำหนดให้การรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด
299 Views