ในส่วนของประเทศไทย ประเด็นสิทธิมนุษยชนในรอบปี 2564 ที่แอมเนสตี้ฯ หยิบยกมาบันทึกในรายงานฉบับนี้ ได้แก่

  • กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม: แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าในปี 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นกว่า 1,500 ครั้ง เพื่อเรียกร้องให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม ปรับปรุงการมาตรการรับมือโควิด-19 ระหว่างการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2564 มีเยาวชนชายอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณลำคอจนเป็นอัมพาตและต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 3 เดือนก่อนจะเสียชีวิต และมีเยาวชนอีก 2 คน อายุ 14 และ 16 ปี ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเช่นกัน แม้ตำรวจปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม แต่แอมเนสตี้ฯ ระบุในรายงานว่า “เจ้าหน้าที่มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ”
  • จับ-ขัง แกนนำ “ราษฎร” : ช่วงปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างน้อย 1,460 คน และแกนนำผู้ชุมนุม เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก อาจต้องเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลเห็นว่ามีความผิด หลายคนถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี
พริษฐ์ ชิวารักษ์
พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 พริษฐ์ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ถูกคุมขังอยู่นานกว่า 7 เดือน กว่าที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวชั่วคราวเพื่อให้เขาได้กลับไปศึกษาต่อ
  • คดี “อัญชัญ” และเผาพระบรมฉายาลักษณ์: ทางการไทยกลับมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง แอมเนสตี้ฯ รายงานว่าระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. มีผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 116 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 คน รวมทั้งวัยรุ่นหญิงอายุ 14 และ 15 ที่ถูกดำเนินดดีจากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนี้ศาลยังตัดสินจำคุก 87 ปี อดีตข้าราชการหญิงที่รู้จักกันในชื่อ “อัญชัญ” จากการแชร์คลิปเสียงในโซเชียลมีเดีย แต่ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะจำเลยรับสารภาพ
  • คดีผู้กำกับโจ้: นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ เสียชีวิตภายในสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์จากการถูกทรมานโดยกลุ่มตำรวจ นำโดย พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นภาพตำรวจใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะนายจิระพงศ์เพื่อทรมานระหว่างถูกซักถามเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด จนนายจิระพงศ์ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้"
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” ถูกควบคุมตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามเมื่อ 26 ส.ค. 2564
  • ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย: เดือน ก.ย. 2564 รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในไทย แต่แอมเนสตี้ฯ ยังเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ไม่ครอบคลุมการทรมานและการบังคับให้สูญหายโดยความรู้เห็นเป็นใจของรัฐ
  • ส่งกลับนักข่าวเมียนมา-ผลักดันชาวกะเหรี่ยง: แอมเนสตี้ฯ รายงานว่า ภายหลังการทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าว 3 คนที่หลบหนีเข้ามาไทยถูกทางการไทยจับกุมในข้อหาลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังผลักดันชาวกะเหรี่ยงนับพันคนที่หลบหนีการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพเมียนมาให้ข้ามฝั่งกลับประเทศ
  • โควิดในเรือนจำ: ความแออัดละขาดสุขอนามัยในเรือนจำ ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 มากถึงกว่า 87,000 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 185 คน
  • สิทธิการทำแท้ง: รัฐสภาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ส่งผลให้การทำแท้งในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ถูกกฎหมาย และยังมีการลดโทษจำคุกผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ภายหลังอายุครรภ์ครบไตรมาสแรก แต่การทำแท้งหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ยังคงเป็นความผิดอาญา
662 Views