นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ. เปิดเผยว่า ทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.วินาศภัย พ.ศ.2535 โดยมีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ หลังทั้งสองบริษัทมีหนี้มากกว่าทรัพย์สินจนไม่สามารถดำเนินการธุรกิจต่อได้ และเตรียมแจ้งความตำรวจอีกด้วย

สำหรับบมจ.อาคเนย์ ฯ นั้น ขาดทุนอยู่ 1.1 พันล้านบาท ส่วนบมจ.ไทยประกันภัยขาดทุนอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดย บมจ.อาคเนย์ -130.43% และ ไทยประกันภัย -2,653.94% นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลัง ตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่สนับสนุนเงินทุน มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และไม่บันทึกรายการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและบันทึกล่าช้า

“หากปล่อยเวลาไป ก็จะเกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อยุติปัญหา ไม่ให้ความเสียหายต่อผู้บริโภคลุกลามไปมากกว่านี้”

สำหรับผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ ทางคปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงานส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ และกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะดูแลรวมถึงลูกค้าประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 1.17 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังไม่เคลมด้วย

นอกจากนี้ กรมธรรม์ที่เหลือจะถูกถ่ายโอนไปยัง กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 5 พัน -7 พันล้านบาท โดยกระบวนการช่วยเหลือขั้นแรก จะเจรจากับบริษัทอื่นๆ เพื่อรับโอนต่อไป เบื้องต้นมี 15 บริษัทพร้อมเข้ามาช่วยรับภาระดังกล่าว ด้านตัวเลขภาระหนี้สินของทั้ง 2 บริษัท โดย บมจ. อาคเนย์ มีหนี้ 1.8 หมื่นล้านบาท มีสินไหมค้างจ่าย 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนบมจ.ไทยประกันภัย หนี้สิน 1.5 หมื่นล้านบาท สินไหมค้างจ่าย 4 พันล้านบาท

โดยทางคปภ.ได้เตรียมแหล่งเงินทุน สำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน โดยทางเลือกหนึ่ง คือ การหารือกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในการกู้เงินจากธนาคารออมสิน เพื่อใช้ดูแล บรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าจากกรณีดังกล่าว แต่ยังไม่สรุปว่าต้องกู้อีกเท่าไหร่ เนื่องจากต้องพิจารณาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ใช้ในการหักลบบัญชีก่อน

นอกจากนี้ทางคปภ.จะได้ยื่นดำเนินการทางคดี กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวทุกราย รวมทั้งเปรียบเทียบปรับเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีไม่ถูกต้องและครบถ้วนในเวลาที่กำหนด รวมทั้งจัดทีมตรวจสอบพิเศษ ตรวจสอบความถูกต้องกรณีโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่น

642 Views