หลังจากที่ศาลอาญามีคำตัดสินลงโทษจำคุก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โทษฐานประมาทขับรถจักรยานยนต์ “บิ๊กไบก์” ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เสียชีวิต ขณะเดินข้ามทางม้าลาย เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้คนต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินนี้ว่า “โทษเบา”

คดีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นจักษุแพทย์อายุเพียง 33 ปี มีอนาคตไกล ขณะที่ฝ่ายผู้กระทำผิดเป็นตำรวจหนุ่มวัย 21 ปี ที่คนในสังคมคาดหวังว่า ควรเป็นแบบอย่างของการเคารพกฎหมายและกฎจราจร นอกจากนี้ จุดเกิดเหตุยังเป็นทางม้าลายอีกด้วย สภาพการณ์เช่นนี้จึงทำให้ผู้คนจับจ้องการพิจารณาคดีนี้

ศาลตัดสินอย่างไร

25 เม.ย. 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรารวมถึง ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดย ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตาม เครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี

นอกจากนั้นจำเลยยังมีความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตามที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายมาตรา ศาลจึงลงโทษตามมาตราที่มีบทลงโทษสูงสุดคือ จำคุกสูงสุด 1 เดือน

ส่วนความผิดฐานอื่น ๆ จำเลยได้รับแต่เพียงโทษปรับเล็กน้อย ได้แก่ ฐานนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ, ฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี, ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย และฐานใช้รถโดยมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วน

นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความของครอบครัวหมอกระต่าย
นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความของครอบครัวหมอกระต่าย

ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ทำให้โทษที่จำเลยได้รับจากการกระทำความผิดต่าง ๆ ดังกล่าว เหลือเพียง จำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา

นอกจากนี้ศาลยังสั่งริบจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้กระทำผิด และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยด้วย

“ยี่ต๊อก” บัญชีมาตรฐานกำหนดโทษทางอาญา

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ระบุว่า คําว่า “ยี่ต๊อก” ที่ใช้กันในวงการตุลาการ หมายถึง บัญชีกํากับการใช้ดุลพินิจของศาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น บัญชีมาตรฐานกําหนดโทษผู้กระทําผิดในทางอาญา บัญชีกําหนดจํานวน ทุนทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา บัญชีกําหนดอัตราค่าทนายความที่ฝ่ายแพ้คดีจะต้องใช้ให้แก่ฝ่ายชนะคดีแพ่ง เป็นต้น

โดยเหตุที่ต้องมี “ยี่ต๊อก” เป็นแนวทางในการลงโทษ ด้วยจํานวนประชากรของประเทศไทยที่เพิ่มจํานวนขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทําให้สถิติอาชญากรรมเพิ่มขึ้นทุกปี อาชญากรรมประเภทเดียวกัน เช่น ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน ปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นต้น ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับผู้พิพากษาในปัจจุบันมีจํานวนเพิ่มขึ้น ศาลบางแห่งมีผู้พิพากษาประจําอยู่จํานวนมาก ดังนั้น หากไม่มี “ยี่ต๊อก” เป็นแนวทางในการกําหนดโทษผู้กระทําผิดแล้ว ด้วยความคิดเห็นที่เป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่ละคน ย่อมทําให้การกําหนดโทษในคดีประเภทเดียวกัน แต่ละคดีนั้น แตกต่างกันไปได้

ความผิดบางประเภทกฎหมายกําหนดช่องว่างให้ศาลใช้ดุลพินิจไว้กว้างมาก หากผู้พิพากษาแต่ละคนใช้ดุลพินิจกันอย่างอิสระ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น การมี “ยี่ต๊อก” จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่ผู้พิพากษาในศาลเดียวกันให้อยู่ในกรอบของความเป็นเอกภาพ และไม่เป็นการใช้ดุลพินิจกันตามอําเภอใจ

ที่มา BBCThai

357 Views