ข่าวเด็กชายอัจฉริยะชาวอเมริกันวัย 13 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเอกด้านฟิสิกส์ และสาขาวิชาโททางคณิตศาสตร์ ที่เผยแพร่ทางบีบีซีไทยเมื่อ 1 พ.ค. สร้างความสนใจมากเป็นพิเศษในหมู่ผู้อ่าน ทั้งเข้ามาอ่านทางเว็บไซต์ และแสดงความเห็นทางเพจเฟซบุ๊ก

หลายคนทึ่งในความสามารถของเด็ก ยกย่องบทบาทครอบครัว ชุมชน และระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ อีกทั้งวิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมอัจฉริยภาพของเด็ก ขณะที่อีกบางส่วนบอกว่าการพัฒนามนุษย์นั้น ควรเป็นองค์กร ไม่ต้องรีบเร่ง

บีบีซีไทยคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาไทย 3 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนในมุมมองของเรื่องนี้

“ตัดเสื้อโหล”

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ฟิช เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ผู้ทำงานด้านการพัฒนาการศึกษาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเห็นว่า การศึกษาที่ใดที่สามารถจัดระบบการเรียนที่เป็นแบบเฉพาะรายบุคคลได้ เด็กที่มีความอัจฉริยะในด้านใดด้านหนึ่งก็จะได้รับการส่งเสริมอย่างถูกจุด

“แต่ในระบบการศึกษาของไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการส่งเสริมในด้านนี้ และพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นความเก่งด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษต้องนำเด็กออกมาฟูมฟักด้วยตัวเอง โดยการจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในบ้านเราเป็นไปได้ยาก เพราะระบบแบบไทยยังเน้นการตัดเสื้อโหลอยู่” ดร.นรรธพรกล่าว

ดร.นรรธพรมองว่าการที่จะวินิจฉัยเด็กว่ามีความอัจฉริยะหรือไม่นั้นต้องเริ่มมาจากครอบครัวและครูผู้สอน และเมื่อสามารถระบุได้แล้ว ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องมาคิดหาวิธีว่าจะส่งเสริม สนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ต่อไปอย่างไร

“ถ้ามองว่าเด็กกลุ่มนี้อยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัด ครูเองก็ไม่ได้มีทรัพยากรมากมายที่จะมาช่วยเด็กที่มีความอัจฉริยะมาก แต่ถ้ามันมีระบบที่ทำให้ครูสามารถระบุเด็กกลุ่มนี้ขึ้นมาได้ในระดับเขตหรือจังหวัด และนำข้อมูลนั้นส่งไปที่ส่วนกลาง เพื่อขอให้ช่วยดูแลเด็กกลุ่มนี้และพัฒนาพวกเขาต่อไปได้น่าจะดี” ดร.นรรธพรกล่าวเสริม

เธอเห็นว่าโรงเรียนหลายแห่งเลือกดึงความสามารถพิเศษของเด็กออกมาใช้เพื่อการประกวดหรือแข่งขันมากกว่าที่จะมาวางแผนการศึกษาให้เหมาะกับความเชี่ยวชาญของเด็กกลุ่มนั้นให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพได้เต็มที่

การบริจาค
ดร. นรรธพร มองว่าจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในบ้านเราเป็นไปได้ยาก เพราะระบบแบบไทยยังเน้นการตัดเสื้อโหล

“เด็กที่เป็นสายกวาดรางวัลก็จะถูกส่งเสริมในเรื่องการติวข้อมูลเตรียมไปสอบแข่งมากกว่า แต่ไม่ได้เกิดการพัฒนาที่จะทำให้เด็กไปได้ถึงขีดความสามารถของเด็กได้จริง ๆ ดูว่าพวกเขาต้องการอะไร มากกว่าเวทีนี้ต้องการให้เด็กสอบประมาณไหน”

เธออธิบายว่าในการศึกษาพิเศษต้องจัดการศึกษาแบบเฉพาะรายบุคคล เพื่อให้เด็กสามารถวิเคราะห์ตัวเองได้ พร้อมตั้งเป้าหมายว่าอยากจะทำอะไร หรือไปในทิศทางไหน และครูกับผู้ปกครองต้องพยายามช่วยเหลือการเรียนรู้ของเด็ก ให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้

กฎระเบียบกับการพัฒนาอัจฉริยภาพ

รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รักษาการเลขาธิการคุรุสภา อธิบายระดับการศึกษาของไทยให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอุดมศึกษา โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นจัดไว้ 15 ปี ในส่วนอุดมศึกษานั้น ไม่มีการกำหนดอายุผู้เข้าเรียน แต่กำหนดว่าต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6)

“พอมีข้อกำหนดแบบนี้ก็ทำให้เด็กที่เก่ง ๆ ก็ยังต้องมานั่งเรียนอยู่กับเพื่อนในช่วงอายุเดียวกันในการศึกษาขั้นพื้นฐาน แทนที่จะไปเรียนอุดมศึกษาได้เลย” ดร. ประวิตกล่าว

“ปัญหาคือเรายังไม่ได้แก้กฎหมายตรงจุดนี้ ที่จะทำให้เด็กที่เก่งข้ามชั้นได้ หรือไม่ต้องมาดูที่การศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย แต่เรายังไม่มีระบบที่จะรองรับ เด็กนักเรียนไทยต้องได้รับการศึกษาตามหลักสูตร ถึงจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ นี่คือปัญหาหลักของเรา”

Students

นอกจากการปรับแก้กฎให้เด็กกลุ่มอัจฉริยะข้ามชั้นได้และยังสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยที่ยังเรียนไม่ครบปีตามกำหนด อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือการจัดให้มีชั้นเรียนที่มารองรับเรื่องพวกนี้

“ก่อนอื่นต้องมีระบบที่จะมาวินิจฉัยเด็กก่อน ถ้ารู้ว่าเด็กเป็นอัจฉริยะให้แยกห้องเรียนออกมาเพื่อรองรับเขา และพัฒนาเขาต่อเพื่อให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำได้ในเชิงระบบ แต่บ้านเรายังใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เด็กทั้งหมดเข้ามาแบบเดียวกัน และจบออกไปแบบเดียวกัน มันยังจำกัดอยู่ที่ ตรงจำนวนปีที่เรียน” ดร. ประวิตเสนอ

ห้องเรียน Gifted ไม่ใช่คำตอบ

แม้หลายโรงเรียนหันมาจัดให้มีชั้นเรียนพิเศษที่เรียกว่าห้องเรียนสำหรับเด็ก gifted แต่ดร. ประวิตมองเห็นว่าระบบนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะระบบนี้คือการคัดเอาเด็กเก่งที่มีความสามารถในการจ่ายค่าเรียนพิเศษมากขึ้นเอามานั่งเรียนรวมกัน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็ยังต้องมาเรียนจบ ม. 6 พร้อมกับเพื่อนคนอื่น ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เรียนเข้มข้นและยากมากกว่าเท่านั้นเอง

เขามองว่าสิ่งที่ประเทศไทยจะทำได้ก็คือสร้างโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนพิเศษ เช่นจุฬาภรณ์ มหิดลวิทยานุสรณ์ หรือกำเนิดวิทย์ ที่เป็นโรงเรียนเพื่อสร้างมารองรับเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ โดยไม่ต้องกำหนดว่าต้องเรียนครบตามกำหนด ถ้ามีความสามารถพอก็ทำการจัดสอบประเมินผล เพื่อให้ไปต่อในระดับอุดมศึกษาได้เลย

อ่านต่อ BBCThai

367 Views