“กลางดึกคืนนั้น ผู้เขียนและเพื่อนนักข่าวกลุ่มเล็ก ๆ แอบหลบกันอยู่ท่ามกลางความมืดในอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งริมถนนราชดำเนิน ด้านนอกอาคารระงมไปด้วยเสียงปืน เสียงทุบทำลายขว้างปาสิ่งของ เสียงทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ขณะที่กำลังทหารรุกคืบจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ และอาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่าที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม”
ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งหนึ่งไทยไว้ในรายงานพิเศษเรื่อง “30 ปี รัฐประหาร รสช. การแย่งอำนาจที่นำไปสู่การนองเลือด ‘พฤษภาทมิฬ'” ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทยเมื่อ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา
การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นสองเหตุการณ์ที่แยกจากกันไม่ได้เพราะรัฐประหาร รสช. นำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จบลงด้วยการนองเลือดอันเป็นที่มาของคำว่า “พฤษภาทมิฬ”
เหตุสลายการชุมนุมเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ (17 พ.ค.) และสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พ.ค. 2535 เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ถนนราชดำเนินในช่วงเวลานั้น บีบีซีไทยสรุปเหตุการณ์โดยสังเขปและประมวลภาพมานำเสนอในวาระครบรอบ 29 ปี “พฤษภาทมิฬ”
ลำดับเหตุการณ์
23 ก.พ. 2534 – รัฐประหาร
คณะ รสช. ซึ่งมี พล.อ. สุจินดา คราประยูร ร่วมอยู่ด้วย ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของ พล.อ. ชาติชาย โดยอ้างว่ามีการทุจริตและประพฤติมิชอบ พล.อ. สุจินดาสัญญาว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
9 ธ.ค. 2534 – รัฐธรรมนูญ 2534
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ รสช. ตั้งขึ้น
22 มี.ค. 2535 – วันเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรม ที่ก่อตั้งโดยเครือข่าย รสช. ได้คะแนนเสียงมากที่สุด รวบรวมพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสภาผู้แทนฯ เลือกพล.อ.สุจินดา ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกฯ
เม.ย. 2535 – เริ่มชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช.
นักศึกษานำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่ง ผู้ชุมนุมโจมตี พล.อ.สุจินดาว่าที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทั้งที่เคยลั่นวาจาไว้หลังรัฐประหารว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นการ “ตระบัดสัตย์” แต่ พล.อ.สุจินดาอ้างว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” การชุมนุมยืดเยื้อมาจนถึงเดือน พ.ค. ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ
17-21 พ.ค. – สลายการชุมนุม
รัฐบาลของ พล.อ. สุจินดาส่งทหารและตำรวจหลายพันคน พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าในคืนวันที่ 17 พ.ค. โดยใช้กระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 18 พ.ค. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุมถูกจับกุม แต่ผู้ประท้วงยังคงพยายามรวมตัวกันและทหารยังปราบปรามต่อเนื่อง วันที่ 20 พ.ค. มีการประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ และในวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งให้ผู้นำฝ่ายรัฐบาลคือ พล.อ.สุจินดา และฝ่ายผู้ประท้วงคือ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าฯ โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้นนำเข้าเฝ้าฯ
ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ พล.อ.สุจินดาและพล.ต.จำลองมีความว่า “ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก”
หลังการเข้าเฝ้าฯ การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยุติลง พล.อ.สุจินดาประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในวันรุ่งขึ้น ภายหลังเหตุการณ์ยุติ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บรวม 1,728 ราย (สาหัส 47 ราย) และสูญหายอีก 48 ราย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขจริงสูงกว่านั้นมาก