ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาประหารชีวิต พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ และจำเลยอีก 5 คน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากมีการเยียวยาโดยจ่ายค่างานศพ และมอบค่าเสียหายให้พ่อแม่ผู้เสียชีวิตคนละ 3 แสนบาท รวม 6 แสนบาท
ส่วนจำเลยที่ 6 คือ ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น เป็นเพียงคนเดียวที่ศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าฯ แต่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี แต่มีเหตุให้ลดโทษเหลือ 5 ปี 4 เดือน
พ.ต.อ. ธิติสรรค์หรือ “ผู้กำกับโจ้” และตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา 6 คน ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานก่อเหตุทำร้ายร่างกายโดยการทรมานนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ วัย 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนผู้ต้องหาเสียชีวิต เหตุเกิดที่ สภ. เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564
พ.ต.อ. ธิติสรรค์และพวกได้หลบหนีไปซ่อนตัวหลังคลิปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย แต่ต่อมาทั้งหมดก็ทยอยติดต่อขอมอบตัวหรือถูกจับกุม
หลังถูกจับกุม ตำรวจได้นำตัวอดีตผู้กำกับโจ้มาแถลงข่าว เขารับสารภาพว่าทรมานผู้ต้องหาจริง แต่ไม่มีเจตนาทำให้เสียชีวิต และเหตุที่ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ต้องหาก็เพื่อไม่ให้เห็นหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้เขายังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าตำรวจรีดไถเงิน 2 ล้านบาทจากผู้ต้องหาและให้เงินพ่อผู้เสียชีวิตเพื่อไม่ให้เอาเรื่อง
สำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์กับพวกรวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 ใน 4 ข้อหา หนึ่งในนั้นคือ ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต
4 ข้อหาที่อัยการยื่นฟ้องอดีตผู้กำกับโจ้กับพวก ได้แก่
- เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
- เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
- ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
- ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 288, 289(5), 309 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และ 172
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางใช้เวลาไต่สวนและพิจารณาคดีกว่า 6 เดือน และนัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 09.30 น. วันนี้ (8 มิ.ย.) โดยจำเลยฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำกลางคลองเปรม ขณะที่เรือตรีจักรกฤษณ์ กลั่นดี และนางจันจิรา ธนะพัฒน์ พ่อและแม่ของผู้เสียชีวิตเดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เรื่องยุติการซ้อมทรมานกล่าวว่า “คำพิพากษาคดีนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของรัฐในการนำคนผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และให้ได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด ลดสภาวะของสังคมไทยที่มักมีการปล่อยให้คนผิดลอยนวลพ้นผิดเหมือนดังกรณีอื่น ๆ ในอดีต รวมทั้งน่าตั้งคำถามว่าจะมีการเยียวยาผู้เสียหายและญาติอย่างเหมาะสมหรือไม่”
สรุปคำพิพากษา
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจัดทำเอกสารสรุปคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 180/2564 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 โจทก์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน บีบีซีไทยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-7 ว่าร่วมกันใช้ถุงคลุมศีรษะนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนขยายผล เพื่อให้บอกที่ซ่อนยาเสพติดให้โทษจนกระทั่งนายจิระพงศ์ถึงแก่ความตาย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทาทารุณโหดร้าย
บิดาและมารดาของนายจิระพงศ์ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและมีคำขอให้จำเลยที่ 1-7ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,550,000 บาท ศาลอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์
พ.ต.อ.ธิติสรรค์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เว้นแต่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ส่วน พ.ต.ต.รวีโรจน์ จำเลยที่ 2, ร.ต.อ.ทรงยศ จำเลยที่ 3, ร.ต.อ.ธรณินทร์ จำเลยที่ 4, ด.ต.วิสุทธิ์ จำเลยที่ 5, ด.ต.ศุภากร จำเลยที่ 6 และ ส.ต.ต. ปวีณ์กร จำเลยที่ 7 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ศาลนัดสืบพยานทั้งหมด 8 นัด มีพยานรวม 23 ปาก เป็นพยานโจทก์ 12 ปาก โจทก์ร่วม 2 ปาก และพยานจำเลยรวม 9 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่รู้เห็นเกี่ยวข้องในเหตุการณ์และเป็นผู้บันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช
ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 มีความผิดดังนี้
- ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
- ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) เจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
- ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปใช้อาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
- ความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ให้ลงโทษจำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (โดยเป็นเจตนาเล็งผลตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง) โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษประหารชีวิต
ส่วนจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรคสอง, พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จำคุก 8 ปี
เหตุบรรเทาโทษ
ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 รับข้อเท็จจริงบางส่วนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง
หลังเกิดเหตุจำเลยทั้ง 7 พยายามช่วยเหลือนายจิระพงศ์โดยการปั๊มหัวใจและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล จนแพทย์ช่วยรักษาผู้ตายมีสัญญาณชีพและหัวใจกลับมาเต้นก่อนที่นายจิระพงศ์จะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา รู้สึกความผิดช่วยค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 30,000 บาท และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้แก่พ่อและแม่ของผู้ตายคนละ 300,000 บาท นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน
คำร้องของพ่อแม่ให้จ่ายค่าชดเชย 1.55 ล้านบาท
ศาลพิพากษาว่าในส่วนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยกระทำทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดา แต่เมื่อจำเลยทั้ง 7 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของตน กรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ บิดามารดาของนายจิระพงศ์จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่ต้องไปเรียกค่าเสียหายเอากับหน่วยงานของรัฐที่จำเลยทั้ง 7 สังกัดอยู่คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ปฏิกิริยาหลังคำพิพากษา
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความเจ้าของเพจเฟซบุ๊กทนายคลายทุกข์กล่าวว่าในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในคนที่เปิดประเด็นนี้หลังจากได้รับหลักฐานจากตำรวจที่เห็นเหตุการณ์ เขาเห็นว่าคดีนี้หลักฐานค่อนข้างแน่นหนา คือ มีทั้งภาพจากกล้องวงจรปิด ประจักษ์พยานและรายงานผลการชันสูตรพลิกศพ แต่จำเลยก็ยังสู้คดีและถูกศาลพิพากษาลงโทษสถานหนัก
“คดีนี้เป็นบทเรียนสำหรับตำรวจว่าในการสืบสวนสอบสวนนั้นจะใช้ความรุนแรง จะใช้วิธีการทรมานไม่ได้ จะต้องถูกลงโทษสถานหนัก ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน นี่ขนาดเป็นถึงผู้กำกับสถานีตำรวจยังไม่รอด
ด้านนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน ซึ่งเป็นผู้นำภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์นี้มาเผยแพร่เมื่อ 24 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กสรุปคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ และให้ความเห็นว่า “หากระหว่างการจำคุก (จำเลย) ประพฤติดี ติดอีกไม่กี่ปีก็ออกมาชิลล์บนถนน ไม่ได้ว่าศาลเอื้อประโยชน์นะครับ แต่ตามข้อกฎหมายมันมีเหตุบรรเทาโทษอยู่แล้วครับ มันเศร้าตรงนี้”