โปรดฟัง-สำรวจเหตุผลคนไทยในสหรัฐฯ ต้องการเลือก “โดนัลด์ ทรัมป์”

“การปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกันเป็นลำดับแรก นโยบายด้านเศรษฐกิจและภาษี ความเชื่อมั่นในนโยบายการเปิดเมืองท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 การบังคับใช้กฎหมาย” เป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยในสหรัฐฯ ที่พูดคุยกับวีโอเอไทย ต้องการสนับสนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จากพรรคริพับลิกัน ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อไป

ศิริรัตน์ ศรีพรหม ชาวไทยในเมืองสก็อตส์เดล รัฐแอริโซนา วัย 42 ปีผู้ทำธุรกิจการฝึกอบรมร่วมกับสามี กล่าวว่านโยบายของรัฐบาลยุคประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้การทำภาษีง่ายขึ้น เหลือเงินเก็บมากขึ้น และเป็นนโยบายที่เธอคาดหวังให้ผู้นำสหรัฐฯ ทำต่อไป เธอเสริมด้วยว่า เธอกังวลว่าหากพรรคเดโมแครตมาเป็นผู้นำรัฐบาล จะทำให้กำแพงภาษีกลับไปสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ทำให้การจ้างงานภายในประเทศลดลง และทำให้ระบบเงินในประเทศหมุนเวียนน้อยลง

“ที่แน่ๆ ดิฉันทำภาษีได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลงรายการเพื่อเก็บเอกสารทุกอย่าง” ชาวไทยผู้ทำธุรกิจการฝึกอบรมร่วมกับสามี กล่าว “พอมีเงินเหลือ เราก็มีเงินไปจ้างได้อีกสองคน มันมีเงินมาหมุนไม่ใช่ว่าหาเงินมาเท่าใดก็ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล …ไม่อยากให้รัฐบาลต้องมาเกี่ยวกับทุกธุรกรรมการเงินของเรา มันเหมือนปล้น”

Sirirat, a 42-year-old Thai woman who supports President Donald Trump's candidacy, participates in Trump Train 2020 Campaign Tour in Scottsdale, Arizona on October 3, 2020
Sirirat, a 42-year-old Thai woman who supports President Donald Trump’s candidacy, participates in Trump Train 2020 Campaign Tour in Scottsdale, Arizona on October 3, 2020

เธอยังเห็นว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯ หายจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้เร็วแม้เขาจะมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งอายุที่ค่อนข้างมากและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ทำให้คนกล้าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น

“ดิฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องใส่หน้ากาก แต่เขาให้ใส่ ดิฉันก็ใส่ แต่ตั้งแต่โควิดมา ดิฉันก็เดินทางไปหลายรัฐ นอนโรงแรม ก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ ถ้า[ไวรัส]แรงจริงๆ ป่านนี้ดิฉันไปแล้ว สงสารบางรัฐที่เขากลัวมากจนทำให้ธุรกิจกระทบเยอะ ไม่มีลูกค้า”

“[การที่ประธานาธิบดี] หายไวมาก ทำให้ทุกคนมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตปกติ มาใช้จ่ายเงิน ทำให้คนที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กได้หายใจ ได้ลูกค้ากลับมา เขาก็ได้ดำเนินชีวิตตามปกติของเขา มีรายได้ของเขา ถ้าทรัมป์ยิ่งป่วยหนัก การล็อคดาวน์ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนก็ไม่กล้าออก เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ” ศิริรัตน์กล่าว พร้อมเสริมว่า เธอเองก็ไม่ได้เชื่อในประสิทธิภาพของวัคซีน และ “ถ้ามีก็คงไม่ฉีด” เพราะเธอคิดว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันหมู่ระดับชุมชน (herd immunity) อยู่แล้ว

ทางด้านทิพวรรณ แกมโบจี้ ชาวไทยเกษียณอายุวัย 58 ปี ในเมืองเพรสคอตต์ รัฐแอริโซนา ก็เห็นว่าการจัดการการระบาดของไวรัสของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ “จัดการได้ดีมาก” โดยเธอให้เหตุผลของการให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อรับมือกับการระบาด ไปจนถึงการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึง “ทำให้สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เพราะสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้มาก”

ทิพวรรณสนับสนุนพรรคริพับลิกัน เนื่องจากเห็นว่าพรรคปกป้อง “คุณค่าของความเป็นสหรัฐอเมริกา” อย่างเช่นการให้ความสำคัญกับบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 2 ที่คุ้มครองสิทธิพลเมืองให้ครอบครองและพกพาอาวุธได้

Tippawan Gambogi, a 58-year-old retired Thai woman, attends Republican Women of Prescott October Luncheon at Prescott, Arizona on October 13, 2020
Tippawan Gambogi, a 58-year-old retired Thai woman, attends Republican Women of Prescott October Luncheon at Prescott, Arizona on October 13, 2020

ในมุมมองของทิพวรรณผู้อาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ มากว่า 12 ปี การที่ประชาชนมีสิทธิพกพาอาวุธ เช่น ปืน ได้ เสมือนเป็นการรับรองว่าประชาชนมีอำนาจปกป้องตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการคุ้มครองจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว และยังเป็นการให้อำนาจกับประชาชนในการต่อรองกับภาครัฐที่มีกองกำลังอาวุธอยู่ในมือได้

เธอยังเห็นว่า พรรคริพับลิกันและประธานาธิบดีทรัมป์มีบุคลิกแบบ “พูดตรงๆ” ที่เธอเห็นว่าตรงกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1

“ดิฉันไม่มีปัญหากับคำว่า China Virus ของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไวรัสนี้มาจากจีนนี่คะ” เธอกล่าว “ทุกวันนี้พูดอะไรก็ไม่ได้ มีแต่ political correctness จะต้องแก้กันทุกอย่าง ที่พูดนี่ผิดหมด นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ คนอเมริกันจากแต่เดิมที่กล้าแสดงความเห็น กลายเป็นกลัวว่าพูดอะไรไปแล้วจะผิด”

Political Correctness ที่ทิพวรรณกล่าว คือ “ความถูกต้องทางการเมือง” หรือการใช้ภาษาหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองต่อผู้อื่นทั้งทางเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม​ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตที่มีจุดยืนคุ้มครองกลุ่มคนหลากหลายในสังคมให้ความสำคัญ แต่ทิพวรรณกลับเห็นว่าพรรคเดโมแครตไม่ควรผูกขาด “ความเท่าเทียม” ไว้ที่พรรคของตน

“ตูน” พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวไทยในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย มีพื้นฐานชีวิตที่หลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เธอเป็นคนไทยที่ย้ายไปอยู่เยอรมนีพร้อมแม่และพ่อเลี้ยงที่เป็นคนผิวดำตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอก็ย้ายมาทำงานที่สหรัฐฯ พร้อมลูกชาย แต่ต่อมาลูกชายก็กลับไปศึกษาที่เยอรมนี

แม้จะมีความหลากหลายในครอบครัว แต่ครอบครัวของเธอกลับไม่เชื่อในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนผิวดำ หรือ Black Lives Matter เพราะมองว่า เป็นการใช้ความเป็นทาสที่ถูกยกเลิกมาแล้วตั้งแค่ปีค.ศ.1865 เป็นเหตุผลในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ตูนมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีใดที่ก่ออาชญากรรมก็ควรเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน ไม่ควรมีสิทธิพิเศษใดๆ

Police officers break up a fight between supporters of U.S. President Donald Trump and Black Lives Matter protesters outside the Oregon State Capitol building in Salem, Oregon, U.S. September 7, 2020.
Police officers break up a fight between supporters of U.S. President Donald Trump and Black Lives Matter protesters outside the Oregon State Capitol building in Salem, Oregon, U.S. September 7, 2020.

“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของท่านขยันทำงาน พยายามส่งลูกทุกคนให้เรียนสูงๆ ทุกคน ตระกูลของพ่อจบการศึกษาสูงทุกคนทั้งที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เขาบอกว่ามันอยู่ที่การทำของตัวเราเอง พ่อไม่เคยบอกว่าเขาเคยเป็นทาสมาก่อน พ่อบอกว่าให้เรียนสูงๆ ถ้าอยากให้คนเคารพเรา ทำตัวเองให้น่านับถือ แล้วจะมีคนนับถือทั้งนั้น” เธอกล่าวถึงคุณพ่อเลี้ยงผิวดำของเธอ

สำหรับ “ฝน” ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพชาวไทยในนครดิมอยน์ รัฐไอโอวา วัย 38 ปี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว Black Lives Matter เนื่องจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงและการบุกรุกทำลายอาคารสถานที่ อนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งตัวของฝนเองให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายและกฎระเบียบ

“การมีโควตาพิเศษให้คนผิวดำ ไม่ใช่การเหยียดเชื้อชาติ[อื่นๆ] หรือ?” เธอกล่าว “‘ความฝันอเมริกัน’(American dream) ที่พวกเรารู้จัก หมายความว่าถ้าเราทำงานมาก เราก็จะได้สิ่งที่เราสมควรจะได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ คนสีผิวอื่นๆ เช่นคนเอเชียหรือคนขาว ก็จะมีความสำคัญน้อยกว่าคนผิวดำ ดิฉันคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าเทียมกัน ดิฉันเลยคิดว่าตัวเองเอนเอียงไปทางเขามากกว่าอีกฝั่งที่ดิฉันรู้สึกว่าเขานำความเป็นคนผิวดำมาใช้ประโยชน์มากกว่า”

Trump Arizona
Trump Arizona

ฝนยอมรับว่าตัวเองเป็นคน “ขี้กลัว” และไม่อยากให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย จึงให้ความสำคัญกับการรักษากฎหมายและระเบียบ และไม่เห็นด้วยกับนโยบายลดงบประมาณของตำรวจที่ทางพรรคเดโมแครตเสนอ

อีกหนึ่งนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เธอเห็นว่า “มีความเป็นผู้นำสูง ไม่พูดเสแสร้ง รักชาติ” คือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง ที่เธอมองว่า ทำให้เธอลดความกังวลที่สหรัฐฯ จะถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากบริเวณดังกล่าวลงไปได้

และท้ายสุด ปัญญา ฉั่ว ชาวไทยที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐเวอร์จิเนียตอนเหนือ มีจุดยืนชัดเจนว่าเขาเป็นสายอนุรักษ์นิยม ไม่สนับสนุนการทำแท้ง และสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้งบประมาณไม่มากและมีบทบาทน้อยในการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ

“ผมชอบที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายลดภาษีและลดกฎระเบียบ [ด้านภาษี] ต่างๆ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจขนาดเล็ก…ผมหวังว่าการลดภาษีจะช่วยให้เราฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้ด้วย” ปัญญากล่าว “ชาวเอเชียนอเมริกันหลายคนก็เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเหมือนครอบครัวของผม นโยบายด้านนี้จึงจะช่วยชาวเอเชียนอเมริกันไปด้วย”

ปัญญาเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับสิทธิในการครอบครองอาวุธของประชาชนและเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบ “เราไม่อยากลดงบประมาณของตำรวจแล้วเห็นอัตราการก่ออาชญากรรมสูงขึ้นหรอกนะครับ” คุณพ่อลูกสองกล่าว

Panya Chua, a Thai-American IT consultant living in Northern Virginia
Panya Chua, a Thai-American IT consultant living in Northern Virginia
1,364 Views