กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ประกาศนัดหมายการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 พ.ย. นี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 16.00 น. ก่อนเดินขบวน “เพื่อนำจดหมายที่ประชาชนร่วมกันเขียนยื่นถึงกษัตริย์”

“ออกมาร่วมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเตรียมเดินขบวน เขียนจดหมายของทุกคน เพื่อเตรียมยื่นถึงกษัตริย์ของเรา”

กลุ่ม “ราษฎร” ระบุว่าถึงการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนจดหมายของตัวเองเพื่อเตรียมยื่นถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเพื่อเป็นการยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในประเทศไทยได้อย่างสง่างาม

แกนนำจัดกิจกรรมได้ขยายความข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ว่าเท่ากับการ “ทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่การล้มล้างดังที่ใครกล่าวอ้าง” หลังเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันฯ ออกมาให้ความเห็นในด้านตรงข้ามว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ไม่ใช่เพื่อปฏิรูป

การนัดหมายดังกล่าว ถูกประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ในช่วงเที่ยงวันนี้ (5 พ.ย.) หนึ่งวันหลังกลุ่ม “ราษฎร” เปิดแถลงที่สนามหลวง แสดงจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลกำลังจัดตั้ง และย้ำจุดยืนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

ในการแถลงจุดยืนของกลุ่ม “ราษฎร” ระบุเงื่อนไขอย่างแรกที่จะเกิดการพูดคุยได้ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ราษฎร
ลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” แถลงจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมใด ๆ กับคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่รัฐบาลจัดตั้ง วานนี้ (4 พ.ย.)
 

เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่ยังสงวนท่าทีการเข้าร่วมคณะกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ จนก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าคณะกรรมการปรองดองฯ อาจไม่ได้คลอดนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ เอาใจช่วย แต่หากไม่สามารถตั้งได้ ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นอำนาจของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขออย่าสงสัย เพราะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 5 และ 6 และไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ประธานรัฐสภาลุกขึ้นฟิตจัด อยากทำเอง ก็ในสภาโยนไปให้ทั้งนั้น ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ประธานรัฐสภาจึงอยู่เฉยไม่ได้

รองนายกฯ ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่ากระบวนการปรองดองจะเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งอาจผลขั้นต้นได้คือมีตัวบุคคลเข้ามานั่งคุย และขั้นที่ 2 ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการชุดนี้

“ปล่อยให้เขาทำงาน ถ้า ‘ติเรือทั้งโกลน’ ลุกขึ้น ‘ตีปี๊บ’ สุดท้าย ‘เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่’ หากกระหึ่มกันว่าโอ้ย… ไม่สำเร็จหรอก ผมเป็นท่านประธานชวน ก็ไม่อยากทำ” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุบอกด้วยว่า ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้ากำลังออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองอยู่ฯ ซึ่งในโลกนี้ คนที่เป็นคู่กรณีขัดแย้งกัน เสนอความคิดแบบนี้มาหลายสูตรแล้ว แต่ปัญหาของไทย ไม่เหมือนปัญหาของประเทศอื่น ๆ ถ้าคนสองกลุ่มขัดแย้งกัน วิธีการแก้ปัญหาของ 2 คนนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่นี้กลายเป็นว่าต้องเริ่มต้นว่าใคร ใครไปขัดแย้งกับใคร เหมือนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าอยากเชิญมาคุย แต่ไม่รู้ว่าจะเชิญใคร ไม่รู้จะพูดกับคนที่อยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง อย่างที่ซุปเปอร์โพลออกมาความเห็นว่า แต่ละฝ่ายมีผู้อยู่เบื้องหลัง อย่างนี้ยิ่งต้องทำให้คิดว่า หากไม่นำคนที่อยู่เบื้องหลังมานั้งคุยด้วย เอาแต่เบื้องหน้าจะได้อะไร เราต้องคุยถึงสาเหตุ

931 Views