ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 3 ล้านคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการติดสุราเรื้อรังจนล้มป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หรือดื่มหนักจนเมามายทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่ปัญหาทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงกังวลอีกต่อไป เมื่อมีการคิดค้นอุปกรณ์ขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายของนักดื่มได้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เมาข้ามวันข้ามคืน

ทีมนักวิจัยด้านเทคนิคการแพทย์และวิสัญญีวิทยาของมหาวิทยาลัยโทรอนโตในแคนาดา เผยผลการศึกษาทดลองล่าสุดลงในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าได้คิดค้นเครื่องช่วยหายใจแบบง่าย ๆ ซึ่งจะดึงการทำงานของปอดมาเพิ่มประสิทธิภาพให้ตับในการขจัดสารพิษต่าง ๆ ออกจากกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมาชนิดต่าง ๆ ให้ออกไปจากร่างกายได้อย่างรวดเร็วขึ้นถึง 3 เท่า

อุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า “เคลียร์เมต” (ClearMate) เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดหนึ่งที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เมื่อปี 2019 ให้ใช้ขจัดพิษคาร์บอนมอน็อกไซด์กับคนไข้ในห้องฉุกเฉินได้

อุปกรณ์เคลียร์เมตจะใช้การหายใจผ่านปอดแบบปกติ เข้าแบ่งเบาการทำงานของตับที่เคยแบกภาระหนักถึง 90% ในการขจัดแอลกอฮอล์เพียงลำพัง ทั้งยังควบคุมการไหลเวียนเข้าออกของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ผู้ใช้งานต้องเป็นลมหมดสติในขณะที่เร่งขับแอลกอฮอล์ผ่านลมหายใจออกไปในปริมาณสูง

ดร. โจเซฟ ฟิเชอร์ นักวิสัญญีวิทยา (Anaesthesiologist) ประจำสถาบันวิจัยของโรงพยาบาลแห่งนครโทรอนโต ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้บอกว่า “หลักการเร่งขจัดแอลกอฮอล์ผ่านปอดได้รับการพิสูจน์ยืนยัน ทั้งเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์มานานหลายสิบปีแล้ว ช่างน่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีใครคิดค้นอุปกรณ์อย่างเคลียร์เมตขึ้นมาก่อนหน้านี้”

UNIVERSITY OF TORONTO

“เครื่องช่วยหายใจที่เร่งอัตราการสลายแอลกอฮอล์แบบนี้มีต้นทุนต่ำ ทำจากอุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงพวกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หรือมีตัวกรองพิเศษอะไร สามารถจะผลิตขึ้นที่ไหนก็ได้ทั่วโลก” ดร. ฟิเชอร์กล่าว

มีการทดสอบใช้อุปกรณ์เคลียร์เมตในเบื้องต้น กับกลุ่มทดลองที่เป็นชาย 5 คน โดยบางคนได้รับเครื่องดื่มผสมวอดก้าเข้าไป 1 แก้วก่อนการทดลองด้วย ซึ่งก็พบว่าหลังการใช้งานเป็นเวลายาวนานสูงสุดที่ 3 ชั่วโมง อัตราการสลายและขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเลยทีเดียว

แม้จะยังเป็นการทดลองนำร่องในกลุ่มเล็ก ซึ่งอาสาสมัครได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปในปริมาณไม่มากนัก แต่ทีมผู้วิจัยเชื่อว่าอุปกรณ์นี้มีศักยภาพสูงในการนำไปพัฒนาต่อ เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพและอุบัติภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก


รายงานข่าวจากบีบีซีไทย

885 Views