@ กะพริบข่าวอ่าวซานฟราน ฯ ประจำวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ เรื่องดีๆท่ามกลางความฉวัดเฉวียนของกระแสข่าวสารในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ด้วยตนเอง ยิ่งมีความสามารถทางการเจาะขุดข้อมูล ค้นคว้า และหรือมีเครือข่ายมาก ยิ่งจะค้นพบและวิเคราะห์จุดได้ลึก ไว แม้ในเรื่องของวงในที่ลึกลับ ในที่สุด เราได้ภาพข่าวมายืนยันในเบื้องต้นว่า คุณ “ต่อ ศรลัมพ์ นักอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ผู้มารับตำแหน่งสำคัญ ณ สถานกงสุลใหญ่ นครลอสแอนเจลิส ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ นี้ค่ะ ข้อมูลได้ปรากฏในเครือข่าย “คนไทยตะวันตก“ เชื่อมโยงตรงกันกับข้อมูลประวัติ จาก “ทำเนียบนิสิตเก่าของคณะอักษรศาสตร์ จุฬา ฯ” พร้อมด้วยภาพถ่าย ประกอบกับแหล่งข่าว MFA Update- Radio Thailand ซึ่งระบุตำแหน่งหน้าที่ และบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ดังนั้น ข่าวสดยูเอสเอ จึงขอทำหน้าที่สื่อมวลชนไทย ประจำสหรัฐอเมริกา ด้วยการกล่าว “ยินดีต้อนรับ” ล่วงหน้า เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และแสดงความนับถือ ต่อเจตนารมณ์ของข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่มาเป็นที่พึ่งของชุมชนไทยในยุคมรสุมมืดดำของโรคระบาด ภัยพิบัติ ภัยสังคม ธรรมชาติ อาชญากรรม และเรื่องราวเหนือคาดการณ์นานารูปแบบทุกทิศในทศวรรษนี้ จากประมวลข้อมูลที่ได้มาในชุดแรก คุณต่อ ศรลัมพ์ สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯวิชาเอก ภาษาเยอรมัน เป็นนักอักษรศาสตร์ รุ่น ๖๐ รุ่นเดียวกันกับภรรยา คือคุณหน่อย สิริกมล ทั้งคู่
จบการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๓๘ รับปริญญาบัตรในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และคุณต่อได้ไปศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย Warwick UK (The University of Warwick is a British campus university located on the outskirts of Coventry and is regarded as one of the country’s leading institutions. It was ranked 10th in the world (3rd in the UK) in 2019 by Academic Ranking of World Universities and 19th in the world (4th in the UK) in 2020 by QS.) ประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศคือ เคยปฏิบัติราชการ ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อประมาณช่วงสิบปีที่แล้ว และเคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา Minister Counsellor ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี Budapest Hungary ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ คุณต่อ ศรลัมพ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ Director กองตะวันออกกลาง กรมเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ในระดับนักการทูตชำนาญการพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ ข้อมูลปรากฏในรายการความสัมพันธ์ไทยและตะวันออกกลาง
@ ในฉบับนี้ เทียนธรรม ขอเขียนด้วยภาษาไทยในรูปแบบกึ่งทางการ เพื่อความเข้าใจง่ายต่อชุมชนและผู้อ่านทั่วไป ว่าด้วยทัศนคติการมองโลกของ “นักอักษรศาสตร์” นอกจากเป็นข่าวดีข่าวสำคัญ ข่าวน่าภาคภูมิใจของชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังถือว่า เป็นกำลังใจ ความสุข ความหวังอันบรรเจิดของชาวไทยอเมริกันที่มาจากรั้วจามจุรี และกลุ่มผู้ที่มีพื้นฐานจากตึกอักษรนครนาค เพราะอะไรน่ะหรือ เหตุผลคือ เดบัณฑิตอักษร จุฬา ไม่ว่าจะเข้าไปทำงานในสาขาใด ไม่ว่าจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปแห่งหนไหนทั้งสาขาการทูต การประพันธ์ การประชาสัมพันธ์การบริหารการศึกษา วิทยากรในสถาบันใดๆวงการโฆษณา วงการสื่อสารสิ่งพิมพ์ ฯ ส่วนใหญ่จะมีบรรทัดฐานหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ละเอียดรอบคอบ มองกว้าง มองลึก มองบนล่างข้างกลาง และมีความสามารถสูงในการเชื่อมโยงทั้งประเมินสถานการณ์ได้อย่างเฉียบแหลม แม่นยำ แม้อาจคลาดเคลื่อนบางกรณีเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยากจะป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่ผลลัพธ์โดยรวม คือทำงานด้วยหลักฐาน ยึดมั่นธรรมาภิบาล และเพื่อประโยชน์สังคม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่คน แต่เพื่อหมู่คณะใหญ่ เพื่อระบบพัฒนาครบวงจร ไม่ใช่วงเล็กๆ
มาถึงบรรทัดนี้ ขอแจกแจงข้อมูลทางการก่อนว่าปัจจุบัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มีภาควิชาทั้งหมด ๑๑ ภาค คือ ๑.บรรณารักษศาสตร์ (Library Science) ๒.ประวัติศาสตร์ (History ๓.ปรัชญา (Philosophy) ๔.ภาษาตะวันตก (Western Languages) ๕. ภาษาตะวันออก (Eastern Languages) ๖.ภาษาไทย (Thai) ๗. ภาษาศาสตร์ (Linguistics) ๘.ภาษาอังกฤษ (English) ๙.ภูมิศาสตร์ (Geography) ๑๐.ศิลปการละคร (Dramatic Arts) ๑๑.วรรณคดีเปรียบเทียบ (Comparative Literature)
เหตุผลที่ต้องบรรยายสาขาการศึกษา เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า นักอักษรศาสตร์ จะมีความรอบรู้ ในพื้นฐานวิชาการครอบคลุมทั้งภาษาปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตลอดจนหนังสือวรรณกรรม และการละครด้วย
ฉะนั้น เมื่อกระทรวงการต่างประเทศส่งบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทั้งการเมืองต่างประเทศและมีพื้นฐานมาจากสถาบันอันดับต้นแห่งชาติในเรื่องการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างลุ่มลึก เราจึงมีความหวังว่า Potential Intelligence ของผู้นำในยุคปัจจุบัน ที่มาอยู่ในชุมชนไทยสหรัฐ ฯ คนใหม่จะช่วยคลี่คลายบรรยากาศขัดแย้งสุดโต่งหรืออย่างน้อยที่สุด มีการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ได้รับความไม่เป็นธรรมในสังคม อย่างอ่อนโยน ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไป สี่สมัยของกงสุลใหญ่ที่ผ่านมาในรอบทศวรรษ เราได้สัมผัสความหลากหลายที่ประสานประสมพ้องกับสถานการณ์โลกและบรรยากาศเหตุการณ์ที่น่าจดจำ สมัยกงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ สงบพอที่จะมีโครงการห้องสมุด และปลูกต้นไม้ได้
มีกงสุลแสนดีคือ รัฐ จำเดิมเผด็จศึก ผู้ล่วงลับที่เคยเป็นที่รักนับถือ ขวัญใจของคนที่เคยได้รู้จักสมัยกงสุลเจษฎา กตเวทิน เริ่มยุคปริแยกร้าวฉาน กับการเปิดประชุมเรื่อง อนาคตเมืองไทยการผลิดอกออกผลของต้นไม้ต่างอุดมการณ์ ต่อด้วยสมัยอัสสุชลสิ้นรัชกาลที่ ๙ กงสุลใหญ่ธานี แสงรัตน์ ผู้พบเห็นประชาชนมากที่สุดในสหรัฐฯ เพราะเป็นช่วงถวายความอาลัย ผ่านมาถึงกงสุลใหญ่คนที่เพิ่งอำลากลับไปนั้น คือยุคมืด เพราะโรคระบาดพิฆาต และปัญหามาตรการกักตัวรวมทั้งเรื่องราวที่คนบัวแก้วไม่อยากให้เขียนถึง
ด้วยเหตุผลที่สั้นที่สุด อย่าขุดแผล ช่วยกันใส่ยา
มาถึงวันแห่งความหวัง ถ้าชุมชนไทย มีผู้นำมาจากอักษรศาสตร์ จุฬา ทั้งคู่ ท่านจะบุกเบิกให้พสกนิกรจำนวนห้าแสนถึงสองล้านคน ที่อยู่ร่วมกันอย่างไม่สามารถจะสามัคคีใดๆในบางประเด็นนั่นได้หรือไม่ นับเป็นโจทย์ที่ยากใช่เล่นแม้กระนั้น เราก็มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่พ.ศ.นี้ไปถึงสี่ปีข้างหน้า มีโคมสองดวงเล็กๆจุดขึ้น ให้กับการดิ้นรนเอาชีวิตรอด ที่ประชาชนทั่วไปยังไม่แน่ใจนักว่า ถ้าฉีดยาบูสเตอร์ไขว้จะมีผลอย่างไรในระยะยาว เนื่องจาก Data บอกว่า ที่ผ่านมาไม่มีปัญหา แต่ว่าอีกห้าปี ผลลัพธ์อาจจะเป็นอื่นไม่มีใครหยั่งรู้อนาคตกาลอย่างเห็นในเข้าฌานหรือใช้อริยะญาณ แต่ที่แน่นอน ทุกปัญหาจะวกกลับตรงไปที่กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรัฐบาลไทย ที่รับผิดชอบดูแลคนไทย
นอกราชอาณาจักร โดยยึดโยงกฎหมายสากล
แต่มีอำนาจตั้งมาตรการพิเศษตามบัญญัติไทย อย่างไรก็ดี บทบาทที่กงสุลใหญ่รับอยู่นั้น เป็นจุดยืนที่ต้องโอบล้อมโดยมือที่รังสรรค์ศีลธรรมด้วยอ้อมแขนขององค์กรทางศาสนาพุทธและวัด ด้วยเครือข่ายทางวัฒนธรรมผสม และปากกาของสื่อมวลชนไทยที่ดี ท่านจึงจะพบความอบอุ่น ต่อเมื่อหน่วยงานอาสาสมัครทุกฝ่ายเข้าใจกันดีและไม่มีผู้หนึ่งผู้ใด หรือเครือข่ายใดที่แอบแฝงหรือนำพาตราสถานกงสุลไทย ไปในที่มิบังควร และหรือดักหลุมพรางทางการเมือง อันซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริหารบัวแก้วในภายหน้าถ้าไม่ระมัดระวัง พื้นที่หลุดการควบคุมดูแล จากบันทึกเหตุ Fake Officials ยุค Covid-19
@ จากหน้าประวัติคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักฐานจารึกพระดำรัสในหลวงภูมิพล ว่าด้วยการสืบสานธำรงคุณค่าของภาษาไทย และภาพการทรงงานทางอักษร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภก ขององค์กรหลัก ทรงส่งเสริมทุกแขนงวิชาการเพื่อจุดมุ่งหมายความสุขของพสกนิกร ดังนั้น ชุมชนไทยในสหรัฐฯ ในยุคสมัยของคุณต่อ นามสกุลศรลัมพ์ ซึ่งนอกจากเป็นข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังสืบพงศาจากพระน้ำพระยามาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๕ และทึ่ ๖ จากหลักฐานที่ปรากฏอย่างแน่ชัดนี้ เพื่อเป็นการยืนยันความปิติ และยินดีต้อนรับ เทียนธรรม ในสถานะ ศิษย์มีครู สำนักเดียวกันจึงขออัญเชิญ พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕
พระราชทานแก่พระราชโอรสที่ศึกษาในยุโรป
ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ แต่ขอยกมาสามข้อที่สำคัญ
คือ ๑. “ถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศไม่ใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดผิดไปกับคนสามัญได้ เพราะฉะนั้น จึงขอห้ามเสียว่าอย่าได้ไปอวดอ้างเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้”
๒. จงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่รักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด…”
๓. อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น
“…เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด” ข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้
สำหรับอนาคตของชุมชนไทย สถานกงสุลใหญ่จะมีการดำเนินนโยบายทางการเมืองอย่างไรหรือปฏิบัติราชการเกี่ยวข้องกับคำสั่งรัฐบาลไทยอย่างไร เป็นเรื่องที่ท่านจะมาอภิปรายเองคาดว่าจะมีงานบุญในแอลเอเป็นพิธีแสดงตนและหรือแนะนำตนเป็นทางการในวาระต่อๆไป
แต่ในส่วนของกิจกรรมร่วมกับองค์กรที่เรียกร้องความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาสังคม ในที่นี่หมายถึงงานในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก เราคาดหวังเป็นอย่างสูงว่า ๑. กิจกรรมนั้นๆจะดำเนินการอย่างโปร่งใส ทุกครั้งที่ใช้ตรากงสุล จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดตั้งตนหรือพวกของตนเป็นผู้แทนกงสุล ที่ไม่มีประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศ เหตุที่เราคาดหวังสิ่งนี้ เพราะกลไกของสื่ออินเตอร์เน็ต อาจแพร่คำสั่งของกลุ่มพิเศษที่มิได้มีความเกี่ยวข้องอันใดกับงานของกระทรวง
ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และยังคงทิ้งร่องรอยไว้อันมีผลต่อประชาชนนับพันที่พบความอยุติธรรม เราไม่อยากให้ใช้ politburo- political bureau ประยุกต์อำนาจใดๆข่มเหงน้ำใจประชาชนในประเทศประชาธิปไตยแห่งนี้ คือสหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยที่ทุกคนมีเสรีภาพในฐานะอเมริกันชน และมีศักยภาพในการดำเนินชีวิตโดยอิสระ
๒. ทุกครั้งที่มีการประกาศร่วมงานกับองค์กรท้องถิ่น ใคร่ขอความกรุณาปรานีจากกงสุลใหญ่จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โปรดกรุณา
แสดงหลักฐาน ที่ตั้งองค์กรและข้อมูลบุคลากรขององค์กรดังกล่าว ให้ประชาชนรับทราบด้วย
ตามมาตรฐานสากล คือ ประธาน ผู้เกี่ยวข้องในองค์กร แสดงวิทยะฐานะ หรือคุณวุฒิที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และแสดงหลักฐานภาพถ่ายตัวจริง หมายเลขติดต่อกับบุคลากรที่ไม่ใช่ชื่อเล่น แต่เป็นชื่อนามสกุล ที่ตรงกับการปรากฏในทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
เพื่อยืนยันว่า เป็นบุคคลที่มีผลงานต่อชุมชนจริง และกลุ่มปฏิบัติงานในองค์กร ซึ่งจะต้องระบุไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้ถูกต้องตามนโยบายหน่วยงาน ไม่ใช่หน่วยงานที่ไม่มีคณะบุคลากรเป็นทีมงานไม่มีเว็บไซต์หรือแม้กระทั่งผลงานที่ต่อเนื่องใดๆ นอกจากภาพสร้างคนไม่กี่คน ที่ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีรายนามกรรมการที่มีคนเข้าถึงได้แทัจริง สิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานสากล สกญ. มิควรจะสนับสนุนทั้งนี้ ประชาชนจะได้มีความไว้วางใจ เชื่อถือได้ในคุณภาพและผลงานขององค์กรดังกล่าว ยิ่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรายการรับบริจาคเงิน ยิ่งสมควรลงนามผู้รับผิดชอบทางฝ่ายบัญชีแน่ชัด รวมทั้งงบประมาณที่เป็นเรื่องเปิดเผยได้ต่อชุมชน เหตุผลที่ขอสิ่งนี้ เพราะหากว่า”ใครไม่ทราบ” มาเปิดบัญชีล่อลวง ย่อมเกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อชุมชน ซึ่งขาดการตรวจสอบ
เราเชื่อมั่นว่า ข้าราชการที่มีความซื่อตรงสุจริตจะไม่ร่วมงานกับองค์กรที่ไม่เคยระบุเรื่องรายรับและหรือไม่เคยแสดงความโปร่งใสทางบัญชีใดอนึ่ง ประวัติที่มาของบุคคลที่ทำงานในองค์กรที่นำตราสถานกงสุลใหญ่ไปออกแสดงทั่วสารทิศเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะมีสิทธิ์ตรวจสอบทั่วกัน มิใช่แค่การประกาศตนว่าเป็นผู้บริหารองค์กรแต่ไม่เคยมีผลงานใดๆที่เด่นชัดในระยะห้าปีหรือมากกว่า ที่จะเป็นสิ่งยืนยันศักยภาพแท้จริง และประการที่สาม ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนไทย และมีคนไทยจำนวนนับพันรับผล ขอให้ประกาศสู่สื่อมวลชนทุกสำนัก โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะทุกสำนักพิมพ์เป็นมิตรของท่านมาหลายชั่ววาระราชการของกระทรวงการต่างประเทศ จึงมิใช่สิ่งอันควรตัดรอนมิตรภาพใดๆเพียงเพราะสถานการณ์ทางการเมืองบังคับมาหรือมีเหตุลึกลับอื่นๆ ที่ทำให้สื่อองค์กรทางโซเชี่ยล เข้ามาแปรแนวทางของสำนักพิมพ์ที่มีจรรยาบรรณสูงกว่า ไปสู่การโพสต์อันฉาบฉวยหรือเห็นได้ชัด ว่า ขาดไร้ซึ่งความทุ่มเทเสียสละเพื่อการยืนหยัดมาตรฐานของงานสื่อสารชุมชน ทั้งหมดนี้ มีผลต่อการทำงานในภาพรวมของสถานกงสุลใหญ่มาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความหวังริบหรี่ เพราะอยู่ดีๆ ก็มีคนที่หาที่มาที่ไปไม่ได้ ใช้อำนาจจากการติดต่อราชการมาเป็น outlaw executive commander นอกระบบ เราคาดหวังว่า สิ่งเหล่านี้ จะถูกปราบปราม เลิกสนับสนุน และกำจัดต้นตอของปัญหาคือกลุ่มคนที่กระทำผิดกฎหมายคนเข้าเมืองและหรือเครือข่ายที่ใช้อิทธิพล อำนาจราชการไปในทางอันจะนำความเสื่อมเสียมาสู่รัฐบาลไทยเอง
จากใจจริง ขอแสดงความยินดีคุณต่อ ศรลัมพ์ ผู้ซึ่งส่งเสริมเยาวชนในครอบครัว ให้มีการศึกษานานาชาติ และได้รับรางวัลมีชื่อเสียง ไปสู่ระบบการศึกษาในประเทศแคนาดา สิ่งใดๆอันเป็นคุณต่อสังคมและความก้าวหน้าของเยาวชนไทยที่เกิดและโตในยุคโควิด ย่อมขึ้นกับโครงการและรากฐานที่หน่วยงานภาครัฐจะปูพื้นฐานให้กับบุตรหลานเยาวดรุณรุ่นต่อไปของชุมชนไทย และสิ่งนั้น คือเป้าหมายของทุกองค์กรในชุมชนที่ประสงค์จะเห็นความสุขความก้าวหน้าเช่นนั้นมิใช่การสู้รบปรบมือแย่งชิงความยิ่งใหญ่ชั่วครู่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะเหลือไว้เป็นมรดกแด่อนุชนคือผลงานในสาขาที่ท่านเชี่ยวชาญ มิใช่ลาภยศหรือศฤงคารใดๆ ซึ่งจะมิมีผู้ใดกอบเก็บไปได้จริง กิจกรรมอันซึ่งมีคุณค่าต่อชุมชนไทยสหรัฐแท้ที่จริงแล้ว คืองานที่ไม่มีวันหยุดไม่มีวันเลิกและอาจเป็นงานที่ไม่มีผลใดในวันนี้แต่มีผลยิ่งใหญ่ต่ออนาคตของความเป็นชาติ กำลังพัฒนา
ไม่ว่าท่านจะสืบสานพระราชปณิธานมากเพียงไหน สิ่งที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้คนไทยเลิกทุบเลิกถองกันด้วยความไร้อุดมคติในต่างประเทศ
เพราะนักอักษรศาสตร์ เรียนรู้มาจากสถาบันแห่งอุดมการณ์สูงสุด เราจึงคาดหวัง The Light of intelligence, not the fire of evil passions.
(โคมแสงแห่งภูมิปัญญา มิใช่ไฟทุรตัณหากิเลส)