เมื่อวันพุธ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติยาต้านโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำให้ยาสูตรนี้เป็นยารักษาโควิดที่ใช้รับประทานและใช้รักษาอาการที่บ้านได้สูตรแรก และอาจมีบทบาทสำคัญในการรับมือเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกของไฟเซอร์ระบุว่า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) นี้มีประสิทธิผลเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงป้องกันการเสียชีวิตได้

ไฟเซอร์ยังระบุด้วยว่า ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการล่าสุดระบุว่า ยาสูตรนี้ยังมีประสิทธิผลต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนด้วย

ทั้งนี้ ไฟเซอร์เพิ่มกำลังการผลิตยาดังกล่าวในปีหน้าจากเดิม 80 ล้านชุดเป็น 120 ล้านชุด ทางบริษัทยังระบุว่าพร้อมจัดส่งยาสูตรนี้ในสหรัฐฯ ได้ทันที โดยยาชุดนี้ของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาสองตัว คือยาสูตรใหม่และยาสูตรเดิม คือ ริโทนาเวียร์ (ritonavir)

อเมช อดัลจา นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Johns Hopkins Institute for Health Security ระบุว่า การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดเป็นก้าวย่างสำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยาสูตรนี้อาจขาดตลาดได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งสหรัฐฯ ยังเผชิญความท้าทายในการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึงอยู่

ไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทพร้อมจัดส่งยา 180,000 ชุดภายในปีนี้ โดยสัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จัดซื้อยาจำนวน 10 ล้านชุด ระบุราคายาที่ 530 ดอลลาร์ต่อหนึ่งชุด

การอนุมัติยาสูตรดังกล่าวเป็นการฉุกเฉินของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีขึ้นขณะที่สหรัฐฯ กำลังรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อีกระลอก ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะเร่งฉีดวัคซีนและเปิดศูนย์ตรวจเชื้อไวรัสมากขึ้น

This image provided by Pfizer in Oct. 2021 shows the company's COVID-19 Paxlovid pills.
This image provided by Pfizer in Oct. 2021 shows the company’s COVID-19 Paxlovid pills.

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่พบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้และฮ่องกงเมื่อเดือนที่แล้ว ได้ระบาดไปแล้วทั่วโลก ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนี้ถูกพบในผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐฯ

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ระบุว่า ยาสูตรใหม่นี้จะใช้ได้ตามใบสั่งยาของแพทย์เท่านั้น และควรมีการจ่ายยาหลังผู้ป่วยพบเชื้อโคโรนาไวรัสโดยเร็วที่สุด และควรมีการใช้ยาภายในห้าวันหลังผู้ป่วยแสดงอาการ ยาสูตรนี้ควรรับประทานทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลาห้าวัน โดยเริ่มรับประทานหลังผู้ป่วยแสดงอาการ

ไฟเซอร์ระบุว่า แม้การทดลองทางคลินิกจะไม่ได้ทดลองในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่การรับประทานยาในปริมาณดังกล่าวควรส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของยาในเลือดในสัดส่วนเท่ากันกับผู้ใหญ่ต่อผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม

ส่วนยาสูตรริโทนาเวียร์นั้นอาจมีปฏิกิริยากับยาสูตรอื่นได้ ซึ่งไฟเซอร์ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควรลดยาปริมาณยาสูตรอื่นขณะรับการรักษาโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ไฟเซอร์วางแผนยื่นขออนุมัติให้ อ.ย. สหรัฐฯ รับรองยาสูตรนี้อย่างสมบูรณ์ในปีหน้า และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของสหภาพยุโรป หรือ อียู ระบุว่า ประเทศอียูสามารถใช้ยาแพกซ์โลวิดได้ แม้ว่าการตรวจสอบเพื่อรับรองยาสูตรดังกล่าวจะยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม

ไฟเซอร์ยังตกลงให้บริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ ผลิตยาสูตรนี้ให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 95 ประเทศ ผ่านองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม หรือ Medicines Patent Pool โดยคาดว่าจะมีการผลิตยาราคาถูกได้ในปีหน้า

นอกจากนี้ อ.ย. สหรัฐฯ กำลังทบทวนอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ (molunpiravir) จากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค โดยผลการทดลองระบุว่า ยาสูตรนี้ลดความเสี่ยงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 30 เปอร์เซ็นต์

1,819 Views