ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในหลายภูมิภาคของโลกกำลังเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เอเชีย หรือยุโรป หน่วยงานสาธารณสุขระบุว่าภูมิภาคลาตินอเมริกาได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโลกแล้ว
บราซิลมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 6.1 แสนรายแล้ว ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และประเทศอื่น ๆ อย่างเม็กซิโก ชิลี และเปรู ก็กำลังพยายามรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่
ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ กำลังเริ่มคงที่ และหลายประเทศในยุโรปเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว สถานการณ์ในศูนย์กลางการแพร่ระบาดโควิด-19 แห่งใหม่ของโลกนี้ร้ายแรงแค่ไหน
ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันรายแรกในลาตินอเมริกาเป็นที่บราซิลเมื่อวันที่ 26 ก.พ. แม้ว่านักวิจัยบอกว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าเริ่มมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือน ม.ค. แล้ว
จากนั้นเป็นต้นมาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็แพร่ระบาดไปทุกประเทศในภูมิภาค โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยุโรป (European Centre for Disease Control and Prevention) บันทึกไว้ว่าถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1.19 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6 หมื่นรายแล้ว
แม้ว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าในยุโรปและสหรัฐฯ แต่การตรวจในลาตินอเมริกาไม่ทั่วถึงเท่า และก็อาจมีการเสียชีวิตที่ไม่ได้รายงานอย่างเป็นทางการอีกจำนวนมาก
ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดสองประเทศอย่างบราซิลและเม็กซิโก มีผู้เสียชีวิตสูงสุด โดยมีมากกว่า 3.4 หมื่นราย และ 1.2 หมื่นราย ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. บราซิลมีรายงานผู้เสียชีวิต 1,349 ราย ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี บราซิลก็ยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่อย่างถาวร
ที่ผ่านมาประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล บอกมาตลอดว่า โควิด-19 ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งบอกว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในบราซิลเป็น “ชะตากรรม” ของทุกคน และก็โทษสื่อว่าเป็นฝ่ายที่ทำให้คนบราซิลตื่นตระหนก
ที่เม็กซิโกก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. มียอดผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,092 ราย ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันก็สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เป็นจำนวน 3,912 ราย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ทางการบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจริง ๆ น่าจะสูงกว่านี้มาก ด้านรัฐบาลโดนวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ให้ธุรกิจบางส่วนกลับไปดำเนินการได้แล้ว ทำให้องค์การอนามัยภาคพื้นอเมริกา (Pan American Health Organization หรือ PAHO) ออกมาเตือนไม่ให้ทางการคลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วไปเพราะจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดยิ่งย่ำแย่
เปรู มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตราว 5 พันคน ส่วนที่ชิลีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายพันคนต่อวัน
เอกวอดอร์ มีอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนประชากรสูงที่สุด โดยมีคนเสียชีวิตราย 20 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน
เทียบกับสหรัฐฯ และยุโรป
ต่างจากสหรัฐฯ และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศลาตินอเมริกายังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตในบราซิล เม็กซิโก และเปรู เพิ่มเป็นสองเท่าทุก ๆ ราวสองถึงสามสัปดาห์ ในขณะที่ใช้เวลา 3 เดือนสำหรับสหราชอาณาจักร 8 เดือนสำหรับอิตาลี และ 11 เดือนสำหรับฝรั่งเศส
ส่วนที่สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นสองเท่าทุก ๆ ราว 2 เดือน
งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตในบราซิลอาจสูงถึง 1.25 แสนราย ภายในต้นเดือน ส.ค. ซึ่งจะเพิ่มเป็นสี่เท่าจากยอดที่กำลังสูงขึ้นขณะนี้
ดร. คาริสซา เอเตียง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยภาคพื้นอเมริกา บอกว่า “ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าขณะนี้ภูมิภาคของเราได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ของการระบาดใหญ่แห่งใหม่ของโลกแล้ว”
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อีกหลายสัปดาห์กว่าที่การแพร่ระบาดในบางประเทศในลาตินอเมริกาจะถึงจุดวิกฤตสูงสุด
รับมืออย่างไร
เม็กซิโกและบราซิลยังคงไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเหมือนประเทศอื่น ๆ
ทั้งสองประเทศต่างออกคำแนะนำว่าประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ออกกฎข้อห้ามระดับประเทศ และประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล ก็ย้ำหลายครั้งว่า โควิด-19 ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง
มาร์เซีย คาสโตร ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขโลกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระบุว่า มาตรการรับมือของบราซิลไม่ดีเลย และตอนนี้แนวทางคำสั่งจากคนระดับผู้บริหารก็สับสนไม่ตรงกัน ต่างจากอาร์เจนตินาและอุรุกวัยที่พอควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเปรูจะมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุด แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีคำสั่งขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้
แม้ว่าชิลีจะสามารถตรวจเชื้อประชาชนได้สูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งอยู่ราว 32 คน ต่อประชากร 1,000 คน แต่การตรวจเชื้อในภูมิภาคนี้ก็ยังถือว่าน้อยอยู่เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเม็กซิโก มีการตรวจเชื้อคิดเป็นราว 2 คน ต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับ 57 คน ต่อประชากร 1,000 คนในสหรัฐฯ
งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเมินว่า บราซิลอาจมีผู้ติดเชื้อจริง ๆ มากกว่าตัวเลขทางการถึง 15 เท่า อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโบลโซนาโร ก็ยังอยากให้บราซิลกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว ท่ามกลางความวิตกกังวลของประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ
ที่มา : ข่าวสด