เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างฉับไวและเข้มงวดที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทว่าตอนนี้กลับกลายเป็นประเทศที่มีผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก

ประธานาธิบดีมาร์ติน วิซคาร์รา ของเปรู กล่าวว่าสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า ผลลัพธ์ของมาตรการล็อกดาวน์ “ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย”

แล้วเหตุใดเปรูจึงเผชิญกับการระบาดรุนแรงเช่นนี้

ปิดพรมแดนและเคอร์ฟิว

Funeral in Lima

เปรูเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ก่อนหน้าสหราชอาณาจักร และชาติในยุโรปบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ทั่วราชอาณาจักร และห้ามเครื่องบินโดยสารเข้าประเทศไทยเมื่อต้นเดือน เม.ย.

ทางการเปรูได้สั่งปิดพรมแดน และประกาศเคอร์ฟิว โดยอนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านเฉพาะกรณีที่ไปซื้อของที่จำเป็น แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เปรูได้ขยายการใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่บังคับใช้มาตรการนี้ยาวนานที่สุดในโลก

แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มจะลดลง แต่ยอดผู้เสียชีวิตกลับยังคงอยู่ในระดังสูง

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่า ขณะนี้เปรูมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 อย่างน้อย 275,989 คน และเสียชีวิตแล้ว 9,135 คน

แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบีบีซีพบว่า เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเกิดคาดการณ์สูงที่สุดในโลก โดยอัตราการเสียชีวิตเกินคาดการณ์นี้หมายถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาปกติในปีก่อน ๆ

โดยข้อมูลที่ครอบคลุมล่าสุดที่สามารถหาได้ คือระหว่างวันที่ 16 มี.ค. ถึง 31 พ.ค. พบว่าจำนวนการเสียชีวิตทั้งหมดของเปรูสูงขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติของปีก่อน

เหตุใดมาตรการของเปรูจึงใช้ไม่ได้ผล

เปรูมีรายงานยอดผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงกว่าทุกประเทศในยุโรป ยกเว้นสหราชอาณาจักร ทั้งที่เปรูมีการตรวจหาเชื้อให้ประชาชนเพียง 6 คนต่อประชากรทุก 1,000 คน ซึ่งแม้จะมากกว่าบางประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา แต่ยังน้อยกว่าอิตาลีมาก ซึ่งมีการตรวจหาเชื้อหาให้ประชาชน 80 คนต่อประชากรทุก 1,000 คน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ระบบสาธารณสุขของเปรูไม่มีความพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่อาจช่วยอธิบายว่า เหตุใดเปรูจึงควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ได้อย่างยากลำบาก

1. ตลาด

Lima market place

ผลการสำรวจของรัฐบาลในปี 2020 พบว่า กว่า 40% ของครัวเรือนในเปรูไม่มีตู้เย็น

ดร.อูโก โนโป นักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู กล่าวว่า หลายครอบครัว “ไม่มีเครื่องใช้ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถกักตุนอาหารไว้รับประทานได้นานหลายวัน”

“พวกเขาจึงอาหารหมดอยู่บ่อย ๆ และต้องคอยออกไปซื้อที่ตลาด” ดร.โนโปกล่าว

ประธานาธิบดีวิซคาร์รากล่าวว่าตลาดของเปรูคือ “แหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ”

ยกตัวอย่างเช่น ตลาดผลไม้ “ลา วิคตอเรีย” ในกรุงลิมา ที่สถิติของทางการ บ่งชี้ว่าราว 86% ของพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

“เมื่อคุณไปซื้อของ คุณก็จะติดเชื้อ แล้วนำเชื้อกลับบ้านไปแพร่ให้คนทั้งครอบครัว”

นายโรแลนโด อาเรลลาโน นักวิจัยด้านสังคมของเปรูชี้ว่า สถานการณ์นี้ถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นจากการจำกัดชั่วโมงการเปิดตลาด ซึ่งทำให้มีผู้คนไปจับจ่ายกันเนืองแน่นกว่าปกติ

ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้วิธีการใหม่เพื่อจัดการตลาดต่าง ๆ ให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้น แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าทางการเข้าไปจัดการความเสี่ยงนี้ล่าช้าเกินไป

2. เศรษฐกิจนอกระบบ

Street vendors move after being evicted by the Police from a public street where they sell their products, in downtown Lima, Peru, 12 June 2020

ราว 70% ของประชาชนที่มีงานทำในเปรูเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งถือเป็นอัตราสูงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา

งานเหล่านี้มักเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ และบ่อยครั้งเป็นการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้โดยง่าย

ดร.โนโปกล่าวว่า “ชาวเปรูที่ออกไปทำงานนอกบ้านต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ และขายของในตลาดที่มีผู้คนแออัด”

3. ธนาคาร

People queue in Peru

ประธานาธิบดีวิซคาร์รายอมรับว่าธนาคารเป็น “จุดสำคัญ” ของการแพร่เชื้อในช่วงแรก ๆ ของการระบาดภายในประเทศ

“อีกปัญหาใหญ่คือการที่เราส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชน…มันคงจะง่ายขึ้นมากหากทุกคนมีบัญชีธนาคาร” ผู้นำเปรูกล่าว

เปรูได้จัดสรรงบประมาณราว 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและบริษัทต่าง ๆ ที่สูญเสียรายได้ในช่วงที่ทางการใช้มาตรการล็อกดาวน์

นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง

ทว่ามีประชากรวัยผู้ใหญ่ของเปรูเพียง 38% ที่มีบัญชีธนาคาร จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถโอนเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ ส่งผลให้คนว่างงานจำนวนมากต้องไปต่อแถวเข้ารับเงินเยียวยาที่ธนาคารกันยาวเหยียด

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ขยายเวลาทำการของธนาคารเพื่อป้องกันประชาชนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก

4. การเว้นระยะห่างทางสังคม

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดบ่งชี้ว่า 11.8% ของครัวเรือนที่มีฐานะยากจนในเปรูอาศัยอยู่รวมกันในบ้านที่แออัด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนยังตั้งข้อสังเกตเรื่องที่ประชาชนไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ

นายวอลเตอร์ มาร์ทอส รัฐมนตรีกลาโหมของเปรู กล่าวว่า “ตำรวจและทหารจะออกทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตามท้องถนน ตลาด ธนาคาร และป้ายรถเมล์ เพื่อช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสชนิดนี้”

นายอาเรลลาโนระบุว่า ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจต่าง ๆ ในเปรูจะเริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้อง “ให้ความรู้เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมแก่ประชาชน และปรับปรุงระบบการค้าขายในตลาด การคมนาคมขนส่ง และระบบอื่น ๆ เพื่อเอื้อในการเว้นระยะห่างทางสังคม”

 

 

 

 

ที่มา : ข่าวสด

774 Views