นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาปรากฏการณ์ “หิมะสีชมพู” บริเวณธารน้ำแข็งเปรเซนา (Presena glacier) ที่เทือกเขาแอลป์ในเขตประเทศอิตาลี
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาหร่ายชนิดหนึ่งที่ชื่อ Chlamydomonas nivalis ซึ่งพบในเกาะกรีนแลนด์ รวมทั้งทุ่งหิมะในเทือกเขาแอลป์ และแถบขั้วโลก
เม็ดสีที่ออกเฉดสีแดงของสาหร่ายชนิดนี้ทำให้หิมะมีสีออกชมพูไปจนถึงสีแดง จึงทำให้ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น หิมะแตงโม (watermelon snow) หิมะสีชมพู (pink snow) หิมะสีแดง (red snow) หรือแม้แต่ หิมะเลือด (blood snow)
แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่สวยงามแปลกตา แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หิมะและน้ำแข็งสีชมพูนี้ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตามปกติ หิมะและน้ำแข็งจะสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์กลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 80% แต่การที่หิมะและน้ำแข็งมีสีเข้มขึ้นจากสาหร่ายชนิดนี้ ทำให้สูญเสียความสามารถในการสะท้อนความร้อนออกไป และขณะเดียวกันก็ดูดซับความร้อนเอาไว้มากขึ้นจนทำให้ธารน้ำแข็งเริ่มละลายเร็วขึ้น
ยิ่งน้ำแข็งละลายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายมากขึ้นเท่านั้น จนกลายเป็นวัฏจักรที่เป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศโลก
ดร.บิอาโจ ดิ เมาโร จากสภาวิจัยแห่งชาติของอิตาลี ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กล่าวว่า “ทุกอย่างที่ทำให้หิมะสีเข้มขึ้นจะทำให้หิมะละลาย เพราะมันไปเร่งการดูดซับรังสีดวงอาทิตย์”
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วเตือนว่า ราวครึ่งหนึ่งของธารน้ำแข็ง 4,000 แห่งในแถบเทือกเขาแอลป์จะละลายหายไปภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และราว 2 ใน 3 ของธารน้ำแข็งในแถบนี้จะหายไปภายในปี 2100
รายงานเมื่อปี 2018 ขององค์การสหประชาติ ระบุว่า โลกกำลังมุ่งสู่ภาวะที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 – 2052 หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่อไป และอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ภายในช่วงสิ้นสุดศตวรรษนี้
เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายหายไปในฤดูร้อน อย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 10 ปี ซึ่งนี่จะทำให้สัตว์และพืชจำนวนมากต้องสูญพันธุ์เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันเล็กลงไปทุกขณะ
ที่มา : ข่าวสด