โดยพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงกระทำมาโดยตลอดนั้น นอกจากจะเป็นผลในทางตรงให้เกิดความวัฒนาสถาพรแก่ปวงชนชาวไทยอย่างเปรียบประมาณมิได้แล้ว ผลในทางอ้อมก็ยังตกทอดมาถึงประชาชนทั้งปวงชนเหมือนดังกระแสน้ำที่ไม่ขาดสาย นั่นคือ ความอบอุ่นและพลังใจ ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแก่ชีวิต ให้มานะบากบั่นไปในหนทางที่ถูกที่ควร

จังหวัดปทุมธานี เมืองหน้าด่านแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย อาหารการกิน ธรรมชาติและสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ชุมชนริมน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายมอญที่น่าสนใจ ปทุมธานี เดิมชื่อ “เมืองสามโคก” เป็นเมืองที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2358 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก ได้มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี” “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” นี่คือคำขวัญจังหวัดปทุมธานี จึงนับว่าปทุมธานี เป็นรากเหง้าแห่งแผ่นดินโบราณริมแม่น้ำ

จังหวัดปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือประมาณ 46 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,565.856 ตารางกิโลเมตร เเบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี สามโคก ลาดหลุมเเก้ว ธัญบุรี หนองเสือ คลองหลวง และ ลำลูกกา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชน และมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสานรักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยงานราชการในพระองค์ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา ร่วมแรงร่วมใจกันในการบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วม และอื่น ๆ

การขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลอง สายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและให้คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆ ส่วนคลองเปรมประชากรตอนบนนั้น ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเป็นปริมาณมากอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าสู่ทุ่งบางไทร-บางปะอินเพื่อการเพาะปลูก และเพื่อให้คลองเปรมประชากรตอนบน มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไปได้

จังหวัดปทุมธานีจึงเป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้ร่มพระบารมี เป็นเมืองเกษตรและเมืองตลาดควบคู่กันไป เป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย เป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมเป็นเมืองแห่งสุนทรีย์ภาพ จังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบันนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก เป็นเมืองตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นเมืองอุตสาหกรรม

นอกจากนี้จังหวัดปทุมธานี ยังมี พิพิธภัณฑ์ต่างๆอย่างมากมายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องนิเวศวิทยา และ สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อาทิ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าที่นำเสนอถึง หลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

และในไม่นานนี้จะเกิดโรงพยาบาลที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกท่านประสงค์จะสร้างเพื่อให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนบนพื้นที่ กว่า40ไร่ ณ คลอง9 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

ผ่านมา205ปี ที่จังหวัดปทุมธานีรุ่งเรือง เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์อื่นๆเป็นของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวปทุมธานีภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากภายใต้ร่มพระบารมี มหาจักรีวงศ์

ในโอกาสนี้ ชาวจังหวัดปทุมธานีขอถวายความจงรักภักดีพร้อมกับความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชวงศ์จักรี อันทรงมีต่อพสกนิกรทั้งปวง และขอพลานุภาพของอดีตพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ โปรดดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญในพระชนมายุอันยืนยาว เพื่อเป็นที่พึ่งแก่ปวงราษฎรดังที่ได้เคยผูกพันมากันมาตราบเวลาอันยาวนานเทอญ

 

 

 

 

ที่มา : สยามรัฐ

876 Views