[responsivevoice voice=”Thai Female” buttontext=”ฟังข่าว 7 นาที”]

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์

• คำร้องขอหนังสือเดินทางอีเล็กทรอนิกส์ 1 ชุด (Download)
• คำให้การหนังสือเดินทางหาย กรณีหนังสือเดินทางหายและใบแจ้งความจากสถานีตำรวจท้องถิ่น
• บัตรประจำตัวประชาชนไทย (หรือสำเนาทะเบียนบ้านหน้าที่ระบุหมายเลขประจำตัว 13 หลักของผู้ร้อง)
• หนังสือเดินทางฉบับปัจจุบัน
เอกสารที่ต้องยื่นเพิ่มเติมสำหรับกรณีดังต่อไปนี้
1. ผู้เยาว์ (อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน)
• สูติบัตรไทย ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• บัตรประจำตัวประชาชนไทยของบิดา มารดา หรือหนังสือเดินทาง ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• ทะเบียนสมรสของบิดา มารดา ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• บิดาและมารดาของผู้เยาว์จะต้องมาลงนามให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่
• กรณีที่บิดาและมารดาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ให้ทำ “หนังสือมอบอำนาจและให้ความยินยอม สำหรับทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์” (Download) โดยต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ Notary Public เพื่อรับรองลายมือชื่อของบิดาและมารดา
• กรณีที่บิดาและมารดาอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งบิดาและมารดาต้องทำ “หนังสือมอบอำนาจและให้ความยินยอมสำหรับทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์” โดยสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่

2. ผู้เยาว์ (อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และบิดามารดาหย่าร้าง)
• สูติบัตรไทย ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• บัตรประจำตัวประชาชนไทย (หรือหนังสือเดินทาง) ของบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์ที่เป็นผู้มีสิทธิปกครองบุตรตามกฎหมาย ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• บิดาหรือมารดาของผู้เยาว์ที่เป็นผู้มีสิทธิปกครองบุตรตามกฎหมายจะต้องมาลงนามให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่
• ทะเบียนหย่าหรือคำสั่งศาลที่ระบุสิทธิในการปกครองบุตร ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• กรณีทะเบียนหย่าหรือคำสั่งศาลออกโดยหน่วยงานสหรัฐฯ ท่านจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. ให้แปลทะเบียนหย่าหรือคำสั่งศาลเป็นภาษาไทย
2. นำทะเบียนหย่าหรือคำสั่งศาลพร้อมด้วยคำแปลไปผ่านการรับรองจาก
1. Secretary of State ของมลรัฐที่ออกเอกสาร
https://www.nass.org/business-services/apostillesdocument-authentication-services
และผ่านการรับรองจาก
2. Department of State
https://travel.state.gov/content/travel/en/legal-considerations/judicial/authentication-of-documents/office-of-authentications.html
เป็นขั้นตอนสุดท้าย
3. ยื่นทะเบียนหย่าหรือนำคำสั่งศาลที่ผ่านการรับรองจาก Department of State พร้อมคำแปลภาษาไทยให้สถานกงสุลใหญ่ฯ รับรองเอกสาร (ชำระค่าธรรมเนียม 15 ดอลลาร์สหรัฐ) ก่อนยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง
(ดูรายละเอียดการรับรองลายมือชื่อที่นี่)

3. ผู้เยาว์ (อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) และบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
• สูติบัตรไทย ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• บัตรประจำตัวประชาชนไทย (หรือหนังสือเดินทาง) ของมารดาของผู้เยาว์ ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
• กรณีมารดาผู้เยาว์พำนักในสหรัฐฯ ให้ติดต่อขอทำบันทึกสอบสวนเพื่อยืนยันสถานภาพการสมรสและอำนาจการ ปกครองบุตรของมารดา (ป.ค. 14) ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ และมารดาของผู้เยาว์จะต้องมาลงนามให้ความยินยอมในการทำหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ (Download)
• กรณีมารดาผู้เยาว์พำนักอยู่ที่ประเทศไทย ให้ติดต่อขอทำบันทึกสอบสวนเพื่อยืนยันสถานภาพการสมรสและอำนาจการปกครองบุตรของมารดา (ป.ค. 14) ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ จากนั้น ให้ทำ “หนังสือให้ความยินยอม (สำหรับทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์)” โดยสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่

4. เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ และทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรก
• เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ และทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรกจะต้องยื่นขอสูติบัตรไทยกับสถานกงสุลใหญ่ฯ
ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้ เนื่องจากสูติบัตรเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการทำหนังสือเดินทาง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการขอสูติบัตรไทยที่นี่)
• การเตรียมเอกสารอื่น ๆ ขอให้ดำเนินการตามที่ระบุในกรณีต่างๆ ข้างต้น
• เมื่อได้สูติบัตรแล้ว ควรดำเนินการขอเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทยที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ เพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งทะเบียนบ้านไทยจะใช้เป็นเอกสารประกอบการขอทำหนังสือเดินทางเล่มต่อไป ทั้งนี้ ท่านสามารถดำเนินการเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทน (ดูรายละเอียดการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่นี่)

5. เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ และทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งที่สอง
• กรณีเด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ และทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งที่สอง หากยังไม่ได้เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทยเพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก จะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางได้
• ท่านจะต้องติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทยให้แล้วเสร็จ จึงจะยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางได้ และต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน (หน้าที่ระบุหมายเลขประจำตัว 13 หลัก) มายื่นประกอบการขอทำหนังสือเดินทางด้วย หากไม่ไปดำเนินการด้วยตนเอง สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทน (ดูรายละเอียดการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่นี่)
• การเตรียมเอกสารอื่น ๆ ขอให้ดำเนินการตามที่ระบุในกรณีต่าง ๆ ข้างต้น

6. ข้าราชการที่ลามาศึกษาต่อและนักเรียนทุน ก.พ.
• ข้าราชการที่ลามาศึกษาต่อและอยู่นอกความดูแลของสำนักงาน ก.พ. จะต้องยื่นหนังสือของส่วนราชการต้นสังกัดที่อนุมัติให้ลาศึกษาต่อ
• ข้าราชการและนักศึกษาที่มาศึกษาต่อและอยู่ในความดูแลของสำนักงาน ก.พ. ให้ยื่นเรื่องผ่านสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐฯ เพื่อประสานสถานกงสุลใหญ่ฯ

7. พระภิกษุ
• หนังสือมติมหาเถรสมาคมอนุมัติการต่ออายุ (ออก) หนังสือเดินทาง ซึ่งระบุชื่อ และฉายา หรือนามสกุลที่ตรงกับหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน หรือหนังสืออนุมัติจากคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)
• หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
• ใบสุทธิ
• บัตรประชาชนไทย (หรือสำเนาทะเบียนบ้านหน้าที่ระบุหมายเลขประจำตัว 13 หลักของผู้ร้อง)
• ใบแต่งตั้งสมณศักดิ์ (ในกรณีเปลี่ยนสมณศักดิ์)

8. กรณีผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง (ทร. 97)
• บุคคลที่มีชื่อถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้านปกติไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง (ทร. 97) จะไม่สามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้
• หากประสงค์จะทำหนังสือเดินทางจะต้องขอแก้ไข ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่เพื่อนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน โดยสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทน (ดูรายละเอียดการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่นี่)
[/responsivevoice]


1,036 Views