สิ่งที่รัฐบาลควรออกมาอธิบายให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนคลายความสงสัยคืออะไร จะสรุปทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 11 ข้อ
1) ในปัจจุบัน มีหลายบริษัทวิจัยทั่วโลกที่ผลิตวัคซีนสำหรับโควิด-19 ออกมา เช่น Pfizer ของสหรัฐฯ ที่จับมือกับบริษัท BIONTECH ของเยอรมัน , Moderna ของสหรัฐฯ , Sinovac ของจีน และ AstraZeneca ของสหราชอาณาจักร ที่ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
โดยแต่ละบริษัท ณ เวลานี้ถึงขั้นตอนผลิตแล้วใช้กับมนุษย์จริงๆแล้ว โดยวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ก็จะมีอัตราความสำเร็จ ที่แตกต่างกันออกไป
2) สำหรับประเทศที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเองได้ วิธีการที่จะทำวัคซีนมาใช้ ก็มีสองวิธี นั่นคือขนส่งแบบสำเร็จรูปจากประเทศผู้ผลิต เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม แล้วนำมาใช้งานได้เลย กับอีกวิธีหนึ่ง คือซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตจากบริษัทวัคซีน แล้วนำเทคโนโลยี มาใช้ผลิตจากโรงงานในประเทศของตัวเอง
3) ประเทศไทยต้องการวัคซีนเช่นกัน และได้ทำการเจรจากับผู้ผลิตหลายเจ้า แต่ที่ตกลงกันได้แล้วคือ Sinovac จากประเทศจีนเป็นจำนวน 2 ล้านโดส จะเป็นการสั่งซื้อโดยตรงจากห้องแล็บในจีน กับอีกบริษัทหนึ่งคือ AstraZeneca (แอสตราเซเนก้า) โดยบริษัทนี้ ไทยทำสัญญา “ซื้อเทคโนโลยี” เข้ามาผลิตเอง
4) AstraZeneca ต้องการหาประเทศที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำการผลิตวัคซีน เนื่องจากง่ายต่อการกระจายสินค้า โดยในเอเชีย มีหลายชาติที่สนใจอยากเป็นผู้ผลิตให้ AstraZeneca อย่างไรก็ตาม ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) กับ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่มีงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายปี ได้ยืนยันว่าประเทศไทยมีความพร้อม ในการผลิต โดยมีโรงงานที่ได้มาตรฐาน และทำเลที่ตั้งของไทย ถือเป็น Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นทำให้บริษัท AstraZeneca ตัดสินใจตอบตกลง และทำสัญญากับประเทศไทย
5) ในสัญญาระบุว่า ประเทศไทยจะรับเทคโนโลยีจาก AstraZeneca แล้วจะผลิตวัคซีนเป็นจำนวน 200 ล้านโดส โดยประเทศไทยจะได้รับการการันตี ว่าจะได้วัคซีนแน่นอน จำนวน 26 ล้านโดส ส่วนอีก 174 ล้านโดส จะเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท AstraZeneca ในการไปกระจายให้กับประเทศใดก็ได้ สำหรับมูลค่าที่รัฐบาลไทย เซ็นสัญญากับบริษัท AstraZeneca ในการซื้อต่อเทคโนโลยี และซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท
6) ในการฉีดวัคซีนนั้นต่อประชากร 1 คน ต้องใช้วัคซีนจำนวน 2 โดส เท่ากับว่าเราได้วัคซีน 26 ล้านโดส ก็จะสามารถสร้างวัคซีนให้ประชากรได้ทั้งหมด 13 ล้านคนในประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร ถ้าเทียบกับความต้องการวัคซีนอันมหาศาลของทั้งโลกในปีนี้ การได้วัคซีนมาครองถึง 26 ล้านโดส ยังไม่นับที่เจรจากับบริษัทอื่นอีก ถือว่าเป็นเลขที่ดีเกินกว่าที่คาด
7) AstraZeneca เป็นวัคซีนตัวแรกที่รัฐบาลอังกฤษ อนุมัติให้ใช้กับมนุษย์ได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิดอยู่ที่ 70.4% ซึ่งมีตัวเลขเหนือกว่า Sinovac จากจีน แต่เป็นรอง Pfizer (95%) และ Moderna (94.5%) แต่จุดเด่นคือ AstraZeneca สามารถเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บในความเย็น -70 องศาเซลเซียสเหมือนของ Pfizer
นอกจากนั้นยังมีราคาถูกกว่า โดยของ Pfizer มีราคาราว 20 ดอลลาร์ต่อ 1 โดส (600 บาท) แต่ของ AstraZeneca มีราคาราว 4 ดอลลาร์ต่อ 1 โดส (120 บาท) เท่านั้น
8) บริษัท AstraZeneca ยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แต่มีเงื่อนไขคือทางบริษัทที่อังกฤษ จะขอเลือกห้องแล็บที่ไทยเอง โดยจะพิจารณาว่าห้องแล็บไหนที่มีอุปกรณ์ และมีบุคลากรที่มีความสามารถมากพอ จะผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของ AstraZeneca ซึ่งสุดท้ายบริษัทที่อังกฤษเลือก คือ บริษัท Siam Bioscience (สยามไบโอไซเอนซ์) โดย Siam Bioscience มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน และเคยมีประสบการณ์ในการตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาแล้ว ซึ่งตรงกับแนวทางในการสร้างวัคซีนของ AstraZeneca ที่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นทาง AstraZeneca จึงตัดสินใจร่วมมือกับ Siam Bioscience โดยคาดว่าจะผลิตวัคซีนออกมาแล้วเสร็จล็อตแรก ในเดือนพฤษภาคม 2564
9) Siam Bioscience เป็นบริษัทที่ก่อตั้งในปี 2552 โดยพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย โดยนำเงินจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเปิดบริษัทขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท สร้างโรงงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงสุด โดยผลงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ผลิตยามาแล้วหลายตัว เช่นยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง และ ยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
บริษัท Siam Bioscience มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาต่อเนื่อง เช่นยาชีววัตถุรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ยาสำหรับโรคสะเก็ดเงิน รวมถึงชีวเวชสำอางเป็นต้น โดยในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 157 ล้านบาท
10) หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับ Siam Bioscience ไปดูแลต่อ ในฐานะบริษัทที่อยู่ภายใต้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ดังนั้น วัคซีนที่จะผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท AstraZeneca จึงถูกเรียกในชื่อเล่นว่า “วัคซีนพระราชทาน” นั่นเพราะ ถ้าหากในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่มีดำริตั้งบริษัท Siam Bioscience ขึ้นมาเมื่อปี 2552 ปัจจุบันประเทศไทยอาจจะยังไม่มีโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงพอ ที่จะผลิตวัคซีนด้วยตัวเองได้
11) สถานการณ์ล่าสุด กระบวนการผลิตยังดำเนินต่อไป โดยคาดว่าจะมีวัคซีนให้คนไทยได้ใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงเพิ่มเติมว่า Siam Bioscience เป็นโรงงานเดียวในประเทศที่มีศักยภาพ “ถึงเกณฑ์” ที่จะผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ได้ ซึ่งคุณภาพของโรงงานนั้น แม้แต่องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเทียบไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วทาง AstraZeneca มีตัวเลือกหลายประเทศ ที่ยื่นข้อเสนอขอซื้อเทคโนโลยีมาผลิตวัคซีน แต่ทาง AstraZeneca ตัดสินใจเลือกไทยเพราะมีโรงงานที่พร้อมที่สุด
ที่มา : workpointTODAY