พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ของนายโจ ไบเดน ในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) จะแตกต่างจากที่เคยมีมาในอดีต เนื่องจากมีขึ้นท่ามกลางห้วงเวลาที่ไม่ปกติ ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองกับประธานาธิบดีผู้ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพิธีสาบานตนและการเฉลิมฉลองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ครั้งนี้
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คืออะไร
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (inauguration) คือ พิธีการที่เริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการ โดยมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
องค์ประกอบเดียวที่กำหนดให้ต้องมีในพิธีการนี้คือการที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต้องกล่าวข้อความสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ความว่า
“ข้าพเจ้าขอสาบานอย่างหนักแน่นว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและอย่างสุดความสามารถ เพื่อดำรง ปกป้อง และพิทักษ์รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา”
เมื่อนายไบเดนกล่าวคำปฏิญาณนี้ เขาก็จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 อย่างเป็นทางการ และพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งก็ถือเป็นอันสมบูรณ์ (แต่อันที่จริงไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะยังจะมีการเฉลิมฉลองตามมา)
ส่วนนางกมลา แฮร์ริส จะได้เป็นรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อเธอได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเช่นกัน ซึ่งตามปกติมักเกิดขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
พิธีของ โจ ไบเดน จะมีขึ้นเมื่อใด
ตามกฎหมายกำหนดให้พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีขึ้นในวันที่ 20 ม.ค. โดยงานมักเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ 11:30 น. ตามเวลาในกรุงวอชิงตัน ดีซี หรือ 23:30 น. ตามเวลาในไทย จากนั้น นายไบเดน และนางแฮร์ริส จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในตอนเที่ยงวัน (12:00 น.)
นายไบเดนจะย้ายเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันเดียวกัน ซึ่งนี่จะกลายเป็นบ้านของเขาตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
การรักษาความปลอดภัยจะเป็นอย่างไร
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักมีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีก หลังจากเกิดเหตุม็อบผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปก่อเหตุวุ่นวายในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.
เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัย และปิดพื้นที่หลายส่วนในกรุงวอชิงตัน ดีซี หน่วยสืบราชการลับได้รับคำสั่งในการปฏิบัติงานตามแผนการรักษาความปลอดภัย และได้รับกำลังสนับสนุนจากกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) อีกราว 15,000 นาย นอกเหนือไปจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันนาย
ปัจจุบัน กรุงวอชิงตัน ดีซี อยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว และคาดว่าจะมีการใช้มาตรการนี้ไปตลอดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
เจ้าหน้าที่ แมตต์ มิลเลอร์ จากหน่วยสืบราชการลับ ซึ่งนำทีมรักษาความปลอดภัยในพิธีครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า การวางแผนรักษาความปลอดภัยในพิธีครั้งนี้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว
ขณะที่นายไบเดน ยืนกรานจะประกอบพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในสถานที่กลางแจ้งตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา แต่จะมีการลดจำนวนผู้เข้าร่วมงานลง
ทรัมป์จะร่วมพิธีด้วยหรือไม่
แม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประธานาธิบดีผู้จะพ้นจากตำแหน่งจะร่วมชมประธานาธิบดีคนต่อไปสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แต่ในครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เพราะนายทรัมป์ประกาศจะไม่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงานนี้
“สำหรับทุกคนที่ไถ่ถามมา ผมจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.นี้” นายทรัมป์ระบุทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 8 ม.ค. โดยคาดว่าในวันงานเขาจะเดินทางกลับไปที่บ้านพักในรัฐฟลอริดา
ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายทรัมป์บางส่วนระบุว่าพวกเขาวางแผนจัด “พิธีสาบานตนรับตำแหน่งรอบสอง” แบบเสมือนจริงทางออนไลน์ให้นายทรัมป์ในวันและเวลาเดียวกับที่นายไบเดนจะสาบานตนเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีคนกว่า 68,000 รายระบุทางเฟซบุ๊กว่าจะเข้าร่วมพิธีทางออนไลน์เพื่อแสดงการสนับสนุนนายทรัมป์
ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายทรัมป์เมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งนางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของนายทรัมป์ และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน สามีของเธอ ต่างแสดงสปิริตเข้าร่วมในพิธีด้วย ทั้งที่นางคลินตันเพิ่งจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่นายทรัมป์
นอกจากนายทรัมป์แล้ว ก่อนหน้านี้มีผู้นำสหรัฐฯ เพียง 3 คนที่เลือกจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของผู้รับตำแหน่งต่อจากพวกเขา ได้แก่ นายจอห์น อดัมส์, นายจอห์น ควินซี อดัมส์ และนายแอนดรูว จอห์นสัน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ต่างไม่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่แล้ว
ด้านรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ระบุว่าจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายไบเดน
โควิด-19 เปลี่ยนโฉมพิธีในปีนี้อย่างไร
ในยามปกติ กรุงวอชิงตัน ดีซี จะเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหลายแสนคนหรือเป็นล้านคนที่ไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสำคัญนี้ และห้องพักของโรงแรมต่าง ๆ ก็จะถูกจองจนเต็ม ยกตัวอย่างในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของนายบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 ที่ประเมินกันว่ามีคนอเมริกันไปร่วมเป็นสักขีพยานราว 2 ล้านคน
แต่ในปีนี้ คณะทำงานของนายไบเดนระบุว่า การเฉลิมฉลองจะเป็นไปอย่าง “จำกัดมาก” พร้อมเรียกร้องให้ชาวอเมริกันงดเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งสอดคล้องกับคำเรียกร้องของทางการเมืองหลวงแห่งนี้ หลังจากเกิดเหตุกลุ่มผู้สนับสนุนนายทรัมป์บุกอาคารรัฐสภา นอกจากนี้ ยังมีการถอดอัฒจันทร์ที่ติดตั้งให้ประชาชนนั่งชมตามเส้นทางขบวนพาเหรดฉลองการรับตำแหน่งออกไปด้วย
แต่หนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่จะคงไว้ในพิธีครั้งนี้คือการที่นายไบเดน และนางแฮร์ริส จะยืนสาบานตนรับตำแหน่งที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาโดยที่สามารถมองเห็นลานเนชันแนล มอลล์ (National Mall) ที่ทอดยาวออกไป ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่เริ่มต้นในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อปี 1981
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า งานในปีนี้จะมีการจัดให้ผู้เข้าร่วมงานราว 200 คน นั่งชมพิธีบนเวทีใหญ่โดยใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและผ่านการตรวจยืนยันว่าไม่ติดโรคโควิด-19 ในเวลา 2-3 วันก่อนถึงวันงาน
นายไบเดนเคยระบุเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วว่า เขาจะไม่สวมหน้ากากอนามัยในตอนที่ต้องกล่าวคำสาบานตน
ในอดีต จะมีการออกตั๋วให้ผู้ต้องการเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการได้จับจองกันราว 200,000 ใบ แต่ท่ามกลางภาวะที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วสหรัฐฯ ทำให้ปีนี้มีการออกตั๋วเพียง 1,000 ใบเท่านั้น
ส่วนพิธีตรวจขบวนสวนสนามทหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมปฏิบัติที่สื่อถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสงบเรียบร้อย ซึ่งประธานาธิบดีคนใหม่ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด (commander in chief) จะตรวจขบวนสวนสนามกองกำลังทุกเหล่าทัพนั้น ในปีนี้ผู้จัดงานระบุว่าจะเป็นการสวนสนามทั่วประเทศที่ถ่ายทอดทางออนไลน์
จากนั้น นายไบเดน นางแฮร์ริส และคู่สมรสของพวกเขาจะได้รับการอารักขาไปยังทำเนียบขาวโดยขบวนทหารและวงดุริยางค์ของเหล่าทัพต่าง ๆ
ตั๋วร่วมงานหาได้ที่ไหน
ตามปกติจะมีการออกตั๋วเข้าชมพิธีแบบใกล้ ๆ ซึ่งมีทั้งแบบนั่งและแบบยืนในบริเวณใกล้กับเวทีจัดงาน รวมทั้งตั๋วที่นั่งตามเส้นทางของขบวนพาเหรด ผู้ที่ต้องการได้ตั๋วแบบนี้จะต้องติดต่อไปยัง ส.ส.ในท้องที่ของตน ส่วนบริเวณลานเนชันแนล มอลล์ นั้นเปิดให้แก่ประชาชนทั่วไปทุกคน
ขณะที่งานฉลองรับตำแหน่งและงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นทั่วกรุงวอชิงตัน ดีซี นั้น จะต้องมีตั๋วเข้างานต่างหากของแต่ละงาน
ตามปกติ ส.ว. และ ส.ส.จะได้รับการแบ่งสันปันส่วนตั๋วเหล่านี้เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ต้องการเข้าร่วมงาน แต่ในปีนี้มีการจำกัดให้ ส.ว. และ ส.ส. สามารถพาแขกเข้าร่วมงานได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น
ศิลปินคนไหนจะร่วมแสดงในพิธีนี้บ้าง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามักมีการแสดงของศิลปินชื่อดังรวมอยู่ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ด้วย และแม้ปีนี้จะมีปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีการคงกิจกรรมบันเทิงนี้เอาไว้
ในปีนี้ เลดี้ กาก้า ผู้สนับสนุนตัวยงของนายไบเดน คือศิลปินผู้ได้รับเลือกให้ขับร้องเพลงชาติสหรัฐฯ ขณะที่เจนนิเฟอร์ โลเปซ จะร่วมขับร้องบทเพลงในงานด้วย
หลังจากนายไบเดน ประกอบพิธีสาบานตนเสร็จสิ้น นักแสดงฮอลลีวูด ทอม แฮงส์ จะรับหน้าที่พิธีกรในรายการพิเศษความยาว 90 นาทีที่จะออกอากาศทางเครือข่ายโทรทัศน์หลักในสหรัฐฯ แทนที่การแสดงสดในงานฉลองรับตำแหน่งแบบในปีก่อน ๆ ซึ่งการแสดงครั้งนี้จะมีนักร้องชั้นแนวหน้าเข้าร่วมแสดงมากมาย อาทิ จอน บอน โจวี, เดมี โลวาโต และจัสติน ทิมเบอร์เลก
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 มีราชินีเพลงโซลผู้เป็นตำนานอย่าง อารีธา แฟรงคลิน เป็นผู้ขับร้องบทเพลง My Country, ‘Tis of Thee ที่สื่อถึงความรักชาติ ขณะที่บียอนเซขับขานเพลง At Last ให้แก่นายและนางโอบามา ในงานเลี้ยงฉลองรับตำแหน่ง
ในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของนายโอบามา บียอนเซคือศิลปินที่ได้รับเกียรติให้ขับร้องเพลงชาติ ขณะที่นักร้องชื่อดัง เคลลี คลาร์กสัน และเจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ต่างก็ได้ร่วมแสดงในงานด้วย
ส่วนนายทรัมป์นั้น มีรายงานว่าประสบปัญหาในการเชิญศิลปินไปร่วมแสดงในพิธีสาบานตนของเขา โดยมีข่าวว่า นักร้องดังอย่าง เอลตัน จอห์น ปฏิเสธคำเชิญให้ร่วมแสดงในงานของนายทรัมป์ เช่นเดียวกับศิลปินดังอย่าง เซลีน ดิออน, วงคิส และนักร้องเพลงคันทรี การ์ธ บรูกส์ ทำให้ท้ายที่สุดพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของนายทรัมป์จึงมีการแสดงของคณะเต้นเดอะร็อคเก็ตส์, นักร้องเพลงคันทรี ลี กรีนวูด และวงร็อค ทรี ดอร์ส ดาวน์
ที่มา : BBC NEWS ไทย