ในสัปดาห์นี้ ค่ายภาพยนตร์ดิสนีย์ จะนำหนังแอนิเมชั่นค่ายดิสนีย์ ‘รายากับมังกรตัวสุดท้าย’ (Raya and the Last Dragon) ออกฉายในประเทศไทย และ “ขุนพล” ที่อยู่เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ฝน ประสานสุข วีระสุนทร คนไทยที่เคยสร้างชื่อในฐานะนักวาดการ์ตูนจากเรื่อง Frozen เมื่อแปดปีก่อน

สำหรับเรื่อง Raya and the Last Dragon คุณฝนทำหน้าที่นำทีมนักเเต่งเรื่อง ภายใต้ตำแหน่ง Head of Story เธอบอกเล่าถึงที่มาและเบื้องหลังของการถ่ายทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมและความงดงามของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางเรื่องราวและภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้

คุณฝนบอกเล่าเรื่องราวระหว่างการสนทนากับสื่อมวลชนผ่าน Zoom ด้วยว่า

“เราไม่ได้แค่ใช้กูเกิ้ลค้นหาว่าภาพที่เราทำออกมาจะสวยงามอย่างไร แต่เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทำไมสิ่งนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้”

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดร่วมกันตรงที่การใช้ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับน้ำเป็นอย่างมาก สภาพภูมิอากาศในแต่ละประเทศก็คล้ายกัน แม้แต่วิธีการทอผ้าก็ยังคล้ายกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในเรื่อง ว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับวัสดุท้องถิ่น ไปจนถึงต้นไม้ดอกไม้ ท้องถิ่นอย่างไร”

“ถึงเมืองคูมันตราจะเป็นเมืองสมมติที่ไม่มีอยู่จริง ในเมืองดังกล่าวอาจไม่มีของที่เหมือนกับในโลกจริงทุกประการ แต่เราก็คิดถึงเรื่องพวกนี้ ทุกอย่างผ่านการคิดมาหมด แม้แต่ของประกอบฉากเล็กๆ ที่อยู่ตรงริมจอ ดิฉันก็วาดจากสิ่งที่ดิฉันพบเห็นจากเมื่อตอนเด็กๆ และเมื่อเราทบทวนงานของเราอีกรอบ เราจะต้องทบทวนเพื่อให้มั่นใจว่าเรื่องราว สิ่งของต่างๆ ในเนื้อเรื่องประกอบไปด้วยห้าส่วน ห้าด้าน เพราะในโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้คนมีความเชื่อในเลขห้า ในดินแดนห้าแห่งที่เคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน”

เมืองสมมติ “คูมันตรา” นี้ เป็นเมืองที่มนุษย์และมังกรเคยอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งคุณฝนเล่าว่า มังกรที่อาศัยอยู่ในน้ำในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีที่มาจาก “นาค” สัตว์ในตำนานตามความเชื่อของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

“นาคเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดฝนตก ฝนก็เปรียบเสมือนชีวิตของคนในภูมิภาคนี้ที่ทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก นาคยังเป็นสัตว์คุ้มครองในตำนานหลายเรื่องด้วย ตามบันไดของวัดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีนาคประดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนบันไดเชื่อมต่อโลกมนุษย์และสวรรค์”

เธอกล่าวว่า การตัดสินใจใช้มังกรที่มีแรงบันดาลใจจาก “นาค” สัตว์ในตำนานที่ผูกพันกับผู้คนในแถบภูมิภาคนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแก่นเนื้อหาของเรื่องที่ว่าด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันผ่านการสร้างความเชื่อใจ “เราถึงมองหาสิ่งที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้”

Raya seeks the help of the legendary dragon, Sisu
Raya seeks the help of the legendary dragon, Sisu

ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นหญิงสาวนักรบอย่าง “รายา” ซึ่งคุณฝนบอกเล่าเคล็ดลับถึงการสร้างตัวละครหญิงที่น่าดึงดูด แข็งแกร่ง แต่ก็ดูไม่ “แตกไปจากกรอบ” จากความเป็นหญิงมากเกินไปว่า

“ทีมงานของเราชอบเจาะลึกลงไปถึงตัวละครแต่ละตัว ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นผู้หญิง ฉันรู้ว่าฉันไม่สมบูรณ์แบบ ทีมงานของเราก็พูดประมาณว่า ‘ตัวละครตัวนี้ก็มีจุดบกพร่อง เหมือนคุณนั่นแหละ’ ทำให้เรามองตัวละครตัวนี้แบบเชื่อมโยงกับเราได้ ความแข็งแกร่งของตัวละครนี้ยังมาจากการที่เธอเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเชื่อมโยง เรียนรู้จากเธอ และได้รับแรงบันดาลใจจากเธอได้”

คุณฝนกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ “ได้ใจ” ผู้ชมก็คือ “ต้องให้เวลา” กับเนื้อหา

“เราอาจบอกเล่าเรื่องบางอย่างได้ภายในประโยคเดียว แต่ความพิเศษของการเล่าเรื่องก็คือ บางครั้งเราอาจเล่าเรื่องได้โดยไม่ต้องแสดงอะไร เช่นตัวละครบางตัวที่อาจไม่แสดงอารมณ์มาก แต่เมื่อเราเจาะลงไปดูที่ภาษากายของเขาแล้ว เราก็อาจบอกอะไรเกี่ยวกับตัวละครนั้นได้เป็นอย่างมาก มีวิธีให้ถ่ายทอดเรื่องราวได้มากมายค่ะ”

หนึ่งในความท้าทายที่สุดของเบื้องหลังการผลิตภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในระหว่างที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็คือ การที่ทีมงานต้องทำงานเป็นทีมกัน ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างทำจากบ้าน ซึ่งคุณฝนยอมรับว่าในช่วงแรก การทำงานจากบ้านเป็นสิ่งที่ “น่ากลัวมาก” สำหรับเธอ”

Raya and the Last Dragon
Raya and the Last Dragon

คุณฝนบอกด้วยว่า ตอนแรกเธอคิดว่าเราคงทำงานจากบ้านน่าจะแค่ราวสองสัปดาห์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน ทีมงานไม่สามารถระดมความคิดสร้างสรรค์จากการเจอหน้ากันและคุยเล่นกัน เช่น จากบทสนทนาขณะเดินไปซื้อกาแฟแบบเดิมได้ ดังนั้นเธอกล่าวว่า ในบรรยากาศใหม่ช่วงโควิด-19 นี้ เธอพยายามทำให้ทีมยังคงสื่อสารกันและยังรู้สึกตื่นตัวต่อการทำงาน และทำให้มั่นใจว่าทุกคนเข้าใจงานไปพร้อมๆ กัน

“มันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก ดิฉันภูมิใจกับทีมงานของเรามากที่ทำงานกันจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าพวกเขาทำกันได้อย่างไรค่ะ”

แม้การทำงานจากบ้านจะเป็นหนึ่งในความท้าทายครั้งใหญ่ต่อการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่คุณฝนบอกว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของการทำงานจากบ้านคือ เธอได้อยู่กับลูกสาววัยสี่ขวบของเธอทั้งวัน ทุกวัน

“เธอเห็นมาหมดแล้วทุกฉากค่ะ เวลาที่เราทำงานบนสตอรี่บอร์ดของเรา ใส่ดนตรี ใส่เสียงประกอบ เธอจะหัวเราะ รู้สึกอารมณ์ดีไปด้วย นั่นทำให้ฉันรู้ว่า ภาพยนตร์ของเราแม้จะอยู่ในขั้นตอนการผลิตอย่างหยาบก็ทำให้ผู้ชมมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเต็มขั้นแล้ว มันจะต้องดียิ่งขึ้นไปอีก”

เรียกได้ว่าลูกสาวของเธอได้เห็นงาน Raya and the Last Dragon ทุกขั้นตอน ก่อนที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ จะเข้าฉายในประเทศไทยวันนี้ และเข้าฉายในสหรัฐฯ วันศุกร์นี้ ในโรงภาพยนตร์เช่นเดียวกับระบบสตรีมหนัง “ดิสนีย์พลัส”

ท้ายสุด คุณฝนบอกว่า การได้ทำงาน “เนรมิตรเรื่องราว” ในโลกของวอลต์ ดิสนีย์ นั้น อาจเป็นงานในฝันสำหรับใครหลายคน ซึ่งคุณฝนตบท้ายถึงเคล็ดลับสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานตรงนี้ว่า เธอแนะนำให้ “แข่งกับตัวเอง ไม่ต้องแข่งกับคนอื่น”

“ในช่วงที่ดิฉันเริ่มทำงานแรกๆ ฉันทำแฟ้มสะสมงานทุกหกเดือนเลยค่ะ อาจจะฟังดูเยอะนะ แต่การทำแบบนั้นมันช่วยให้ดิฉันได้มองกลับไปว่า ดิฉันเรียนรู้อะไรมาบ้าง แลัเอาชนะอะไรมาบ้าง มันทำให้ดิฉันรู้ถึงความก้าวหน้าของตัวเองโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองไปพร้อมๆ กับสนับสนุนผู้อื่นได้ ไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเรากับใคร แล้วทำให้เรารู้สึกว่า ‘คนอื่นเก่งจัง ทำไมตัวเราไม่มีค่าเลย'”

Raya and the Last Dragon
1,066 Views