กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกระดับเตือนภัยการระบาดของโควิด-19 เป็นระดับที่ 4 ซึ่งอาจมีการปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด พร้อมกับยืนยันว่าไทยได้เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่แล้วจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงวันนี้ (6 ม.ค.) ว่าหลังวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่ สธ. คาดการณ์ โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,775 ราย หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 รายจากวันก่อนหน้า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย

จากสถานการณ์เช่นนี้ สธ. จึงได้ยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 ซึ่งอาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ และมีข้อแนะนำให้ประชาชนงดกิจกรรมบางอย่างเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น งดเดินทางไปต่างประเทศ หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะโดยไม่จำเป็น แนะนำทำงานที่บ้าน (work from home) ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการจำกัดการรวมกลุ่ม เป็นต้น

ต้อง “งด” อะไรบ้างภายใต้การเตือนภัยระดับ 4

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับว่า เดิมมีการเตือนภัยเป็นระดับ 3 แต่หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการสาธารณสุขจึงมีมติให้ยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับการเตือนภัยและคำแนะนำประชาชนและสถานประกอบการ มีรายละเอียด ดังนี้

1. สถานที่เสี่ยง

  • งดไปรับประทานอาหารร่วม-ดื่มสุราในร้าน
  • งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท

“สถานที่เสี่ยงก็ได้แก่ สถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ดี มีคนอยู่รวมกันอย่างแออัด มีคนใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก หรือมีคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่เป็นสาเหตุการระบาดในหลายคลัสเตอร์อย่างที่อุบลราชธานี กาฬสินธุ์” นพ.โอภาสกล่าว

2. การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก

  • เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน
  • งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม

3. การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด

  • งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภทโดยไม่จำเป็น

4. การเดินทางเข้า-ออกประเทศ

  • งดไปต่างประเทศ
  • คนที่เดินทางเข้าประเทศ ต้องกักตัว

 

651 Views