7 ม.ค. 2565 Mirror UK และ Daily Mail สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศขายบ้านพักตากอากาศที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในราคา 17 ล้านปอนด์ (ประมาณ 775 ล้านบาท) เพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าคดีความในศาลสหรัฐฯ หลังในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว พระองค์ถูกหญิงชาวอเมริกัน ‘เวอร์จิเนีย จุฟเฟร’ (นามสกุลเดิม: โรเบิร์ตส์) ฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ข้อมูลจาก Mirror UK ระบุว่าเจ้าชายแอนดรูว์พยายามเร่งขายบ้านพักหลังดังกล่าวให้ได้เร็วที่สุด เพราะสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะไม่ทรงช่วยเหลือเรื่องค่าคดีให้แก่พระองค์ รวมถึงค่าเสียหายใดๆ ที่อาจตามมาหลังศาลมีคำพิพากษา

‘ชาเลต์ เฮโลรา’ คือชื่อบ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่โตหรูราของเจ้าชายแอนดรูว์ มีทั้งหมด 7 ห้องนอน มีสระว่ายน้ำในบ้าน ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแวร์บีเย รัฐวาเล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนนิยมมาเล่นสกี และมีสกีรีสอร์ตหลายแหล่ง เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอลป์ เจ้าชายแอนดรูว์ซื้อบ้านหลังนี้เมื่อ พ.ศ.2557 ในราคา 16.6 ล้านปอนด์ (757 ล้านบาท) โดยซื้อร่วมกับซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก อดีตพระชายา ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูเชนี

ดัชเชสแห่งยอร์กพร้อมด้วยเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูเชนาเสด็จไปเล่นสกีที่แวร์บีเยในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2004 
Mirror UK รายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ดยุคและดัชเชสแห่งยอร์กพยายามขายบ้านหลังดังกล่าวเพื่อปิดคดีฟ้องร้องระหว่างพวกเขาและอิซาเบลลา เดอรูฟร์ หญิงวัย 74 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม หลังจากที่เดอรูฟร์ฟ้องร้องต่อศาลสวิสว่าดยุคและดัชเชสแห่งยอร์กค้างชำระหนี้บ้านงวดสุดท้ายเป็นจำนวนเงิน 6.6 ล้านปอนด์ ซึ่งมีกำหนดจ่ายในวันที่ 1 ม.ค. 2563 อย่างไรก็ตาม เดอรูฟร์ตัดสินใจไม่ฟ้องร้องเพิ่มเติมหลังทราบว่าดยุคและดัชเชสแห่งยอร์กขายบ้านได้ในราคาใกล้เคียงกับที่เธอเรียกร้องค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย คือ 17.3 ล้านปอนด์ ทั้งนี้ หลังจากขายบ้านได้สำเร็จแล้ว ดยุคและดัชเชสแห่งยอร์กจะต้องชำระหนี้คืนแก่เดอรูฟร์

แหล่งข่าวเปิดเผยกับเดลีเมลว่าดยุคและดัชเชสแห่งยอร์กรู้จักและเป็นเพื่อนกับเดอรูฟร์ เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งคู่ พร้อมด้วยเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูเชนีเสด็จไปเล่นสกีที่แวร์บีแยเป็นประจำในช่วงวันหยุดพักผ่อนและเช่าบ้านของเดอรูฟร์เพื่อพักอาศัย หลังจากนั้นจึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังดังกล่าวด้วยเงินส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานให้ โดยตั้งใจซื้อเพื่อเป็น ‘การลงทุนระยะยาวของครอบครัว’ และเมื่อการซื้อขายบ้านสิ้นสุดลง เจ้าชายแอนดรูว์จะไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนี้อีกต่อไป

ย้อนรอยคดีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์

ในปี 2562 หลังเจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินและมหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล ฆ่าตัวตายในเรือนจำระหว่างรอการไต่สวนข้อกล่าวหาอาชญากรรมทางเพศ เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ (อายุ 38 ปี ปัจจุบันใช้นามสกุล ‘จุฟเฟร’ ตามสามี) หนึ่งในเหยื่อการค้าประเวณีเด็กของเอปสตีน ออกมาให้ข่าวและอ้างว่าใน พ.ศ.2544 เธอได้พบกับเจ้าชายแอนดรูว์ผ่านการแนะนำของเอปสตีน เธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรูว์ 3 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นเธออายุเพียง 17 ปี ส่วนเจ้าชายแอนดรูว์ทรงมีพระชันษา 41 ปี การเปิดเผยครั้งดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนในสังคมและราชวงศ์อังกฤษเป็นอย่างมาก แม้ว่าสำนักพระราชวังอังกฤษและเจ้าชายแอนดรูว์จะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่เจ้าชายแอนดรูว์ได้ประกาศถอนตัวจากเป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และยกเลิกการปฏิบัติพระราชกรณีแทนพระองค์อย่างเป็นทางการ หลังจากให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษในปีเดียวกัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเกิดข้อกังขาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเอปสตีน

แม้ว่าเรื่องราวอันอื้อฉาวระหว่างเจ้าชายแอนดรูว์และโรเบิร์ตส์จะเกิดขึ้นในปี 2544 และเป็นที่รับทราบของสาธารณชนในปี 2562 แต่โรเบิร์ตส์ตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าชายแอนดรูว์ในวันที่ 10 ส.ค. 2564 ตามพระราชบัญญัติเหยื่ออาชญากรรมเด็ก (Child Victims Act) ซึ่งเป็นกฎหมายระดับมลรัฐของรัฐนิวยอร์ก ที่อนุญาตให้เหยื่อผู้รอดชีวิตจากอาชญากรรมเกี่ยวกับเด็ก สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดได้โดยไม่จำกัดว่าเหตุการณ์หรือคดีอาชญากรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือจบลงเมื่อใด กฎหมายนี้ผ่ายการรับรองของแอนดรูว์ คูโอโม อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในปี 2562 ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วเพราะถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายคน

เจ้าชายแอนดรูว์ เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ และกิสเลน แม็กซ์เวลล์ ในปี 2001
(ภาพจากบีบีซี โดยอ้างอิงจากเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์)
ลิวอิส แคปแลน ผู้พิพากษาศาลมลรัฐนิวยอร์ก ผู้รับผิดชอบคดีระหว่างโรเบิร์ตส์และเจ้าชายแอนดรูว์ยังไม่มีคำสั่งเรียกเจ้าชายแอนดรูว์ขึ้นให้การในชั้นศาล หลังจากที่ทนายความส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ขอโรเบิร์ตส์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดคดี พร้อมกันนี้ ทนายความส่วนพระองค์ยังยื่นหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารสัญญาในปี 2552 ระหว่างโรเบิร์ตส์และเอปสตีนที่ตกลงกันว่าจะโรเบิร์ตส์จะไม่ฟ้องร้องบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือติดต่อกับเอปสตีน แลกกับเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 370,000 ปอนด์ (16.82 ล้านบาท) ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ได้ ทั้งนี้ แหล่งข่าวของ Daily Mail ระบุว่าคดีแพ่งส่วนใหญ่ในระบบศาลสหรัฐฯ มักจบลงด้วยการเจรจานอกรอบเพื่อชดเชยค่าเสียหาย และไม่ต้องมีบันทึกติดตัวว่าเคยต้องคดีถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล

อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งเดินหน้าพิจารณาคดีต่อ และเจ้าชายแอนดรูว์ทรงแพ้คดี นักวิเคราะห์คาดว่าพระองค์จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโรเบิร์ตส์เป็นมูลค่าสูงถึง 3 ล้านปอนด์ (136.7 ล้านบาท) ทั้งนี้ มีรายงานว่าเจ้าชายแอนดรูว์พยายามไกล่เกลี่ยนอกรอบกับโรเบิร์ตส์เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นศาลที่สหรัฐฯ แต่แหล่งข่าววงในระบุว่าหากศาลยืนยันว่าจะพิจารณาคดีต่อ กระบวนการต่อรองค่าเสียหายจะกระทำนอกศาลมิได้ ซึ่งทีมทนายความของเจ้าชายแอนดรูว์ทราบและตระหนักดีว่า ‘ผลกระทบแง่ลบ’ จากคดีนี้จะส่งผลต่อราชวงศ์อังกฤษอย่างแน่นอน โดยในเดือน มิ.ย. ปีนี้ ราชวงศ์อังกฤษจะมีพระราชพิธีฉลองวาระการครองราชย์ครบรอบแพลทินัม (Platinum Jubilee) 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีพระชนมายุ 95 พรรษา

คดีของเจ้าชาวแอนดรูว์กลับมาเป็นที่สนใจของสื่ออีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้กิสเลน แม็กซ์เวลล์ นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 60 ปีและอดีตคนรักของเอปสตีน มีความผิดฐานร่วมกันจัดหาและค้าประเวณีเด็ก โดยบีบีซีรายงานว่าคำตัดสินศาลในคดีนี้อาจส่งผลต่อคดีของเจ้าชายแอนดรูว์เนื่องจากพระองค์เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าทรงรู้จักกับเอปสตีนผ่านแม็กซ์เวลล์ ซึ่งเป็นสหายที่พระองค์ทรงรู้จักมานาน แม้ว่าโจทก์ในคดีของแม็กซ์เวลล์จะไม่ได้กล่าวหาโดยตรงว่าเธอคือผู้ช่วยจัดหาผู้เยาว์มาค้าประเวณี แต่ผู้หญิงอีกคนที่รู้จักแม็กซ์เวลล์และเป็นหนึ่งในขบวนการค้าประเวณีเด็กของเอปสตีนยอมรับสารภาพ ด้วยเหตุนี้ ทนายความของโรเบิร์ตส์จึงนำคำพิพากษาในคดีนี้มาเป็นหลักฐานประกอบคำฟ้องเพิ่มเติมได้ เพราะโรเบิร์ตส์ก็ให้การว่าแม็กซ์เวลล์ล่อลวงเธอให้เข้ามาค้าประเวณีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากศาลสั่งให้พิจารณาคดีต่อ และไม่มีการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล เจ้าชายแอนดรูว์จะต้องมาขึ้นให้การที่ศาลมลรัฐนิวยอร์กด้วยตนเอง โดยทนายความของโรเบิร์ตส์จะเป็นฝ่ายซักค้านพระองค์ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ถ้าพระองค์ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทนายความโจทก์ก็มีสิทธิเรียกตัวสมาชิกครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้องกับเจ้าชายแอนดรูว์มาขึ้นให้การ ซึ่งรวมถึงดัชเชสแห่งยอร์ก อดีตพระชายา และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับเจ้าชายแอนดรูว์

การจ่ายเงินชดเชยเพื่อไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีไม่อาจหยุดยั้งการสืบสวนคดีของเจ้าชายแอนดรูว์ที่เกี่ยวข้องกับเอปสตีน เพราะเมื่อพระองค์ขึ้นศาลสหรัฐฯ แล้ว FBI จะมีอำนาจเข้ามาสอบสวนพระองค์ในฐานะพยานของคดีความต่างๆ ของเอปสตีน ซึ่งพระองค์อาจต้องให้การเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเอปสตีนอีกครั้ง แต่ยังพอมีทางรอดสำหรับเจ้าชายแอนดรูว์ ไม่ต้องไปขึ้นศาลที่สหรัฐฯ เพราะทีมทนายความของพระองค์แย้งต่อศาลว่าโรเบิร์ตส์ให้ข้อมูลเฉพาะเจาจะจงกับคดีล่วงละเมิดทางไม่ได้ เช่น วันที่ และสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงจุดประสงค์ในการฟ้องร้องก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง Daily Mail มีความเห็นว่าข้อนี้อาจจะมีน้ำหนักและส่งผลดีต่อเจ้าชายแอนดรูว์ เพราะปัจจุบัน โรเบิร์ตส์ได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่ออสเตรเลียตามสามี จึงเป็นไปได้ว่าคดีอาจอยู่นอกขอบเขตอำนาจศาลสหรัฐฯ

อนึ่ง ทนายความของโรเบิร์ตส์บอกว่าเรื่องราวระหว่างโรเบิร์ตส์และเจ้าชายแอนดรูว์คงไม่บานปลายขนาดนี้ หากเจ้าชายแอนดรูว์ทรงแสดงออกว่ารู้สึกผิดและเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพื่อแสดงความเคารพต่อเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทุกคนในคดีของเอปสตีน

ที่มา:

447 Views