หลังจากที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้มีคำวินิจฉัยซึ่งส่งผลกลับคำพิพากษาในคดีประวัติศาสตร์ Roe v Wade ซึ่งคำตัดสินเดิมรับรองสิทธิในการทำแท้งของสตรีอเมริกันมานานเกือบครึ่งศตวรรษ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งทั่วประเทศเตรียมออกมาชุมนุมประท้วง เพราะหวั่นเกรงว่าคำตัดสินดังกล่าวจะเปิดทางให้หลายรัฐของอเมริกาออกกฎหมายห้ามการทำแท้ง

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มีการตระเตรียมจัดการประท้วงในเมืองใหญ่และสถานที่ต่าง ๆ กว่า 70 แห่ง ทั่วสหรัฐฯ ตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ หลังจากที่มีการเดินขบวนคัดค้านคำตัดสินของศาลมาแล้วในกรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์ก ชิคาโก และลอสแอนเจลิส โดยการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง ที่ด้านหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในหลายประเทศด้วย

คลินิกวางแผนครอบครัวซึ่งให้บริการทำแท้งในหลายรัฐเริ่มทยอยปิดตัวลง หลังศาลสูงสุดมีคำตัดสินว่าการทำแท้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ 26 รัฐที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยม พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติเดิมที่ให้สิทธิในการทำแท้งอยู่ หรือออกกฎหมายห้ามการทำแท้งในทุกกรณีตามมาในทันที

ข้อมูลจากการวิจัยของ Planned Parenthood องค์กรผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ชี้ว่าผู้หญิงอเมริกันที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ราว 36 ล้านคน จะไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้เลยหลังจากนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความเห็นภายหลังรับทราบคำตัดสินดังกล่าวว่า ผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ส่วนมากเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาห่างเหินและขาดความเข้าใจในเสียงส่วนใหญ่ของสังคมอเมริกันมากขนาดไหน

ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวว่า “การตัดสินของศาลในกรณีนี้ถือว่าผิดพลาด โดยได้ตัดสิทธิที่พึงมีของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไปเสีย ช่างเป็นวันที่น่าเศร้าของสถาบันศาลและของประเทศแห่งนี้”

นายไบเดนยังกล่าวยืนยันว่าเรื่องนี้จะยังไม่จบลงง่าย ๆ โดยรัฐบาลของเขาจะปกป้องสิทธิในการเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ และสิทธิที่ผู้หญิงจะเดินทางไปเข้ารับการทำแท้งในรัฐที่อนุญาตให้ทำได้ มิฉะนั้นแล้วจะเกิดผลร้ายตามมามากมาย เช่นอัตราการตายของแม่ระหว่างตั้งครรภ์จะพุ่งสูงขึ้น ส่วนหญิงที่ถูกข่มขืนจะต้องถูกบังคับให้อุ้มท้องลูกของอาชญากร ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างยิ่ง

นายไบเดนเรียกร้องให้สภาคองเกรสและประชาชน ช่วยกันรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการทำแท้งตามกฎหมายเดิม ซึ่งมาจากคำพิพากษาคดี Roe v Wade ในปี 1973 โดยผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า เสียงส่วนใหญ่ของชาวอเมริกันจะเป็นสิ่งที่ตัดสินชี้ขาดประเด็นปัญหานี้

คดี Roe v Wade คืออะไร ?

เมื่อปี 1969 นางสาวนอร์มา แม็กคอร์วี หญิงโสดที่อ้างว่าถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ลูกคนที่สาม ร้องต่อศาลในรัฐเทกซัสให้แก้ไขกฎหมายซึ่งกำหนดให้การทำแท้งทุกกรณีเป็นอาชญากรรม โดยกฎหมายดังกล่าวยกเว้นให้แม่ที่เสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการตั้งครรภ์เท่านั้น

นางสาวแม็กคอร์วีใช้นามแฝงในการฟ้องคดีว่า “เจน โร” (Jane Roe) และต้องต่อสู้คดีกับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นอัยการของเขตดัลลัส ชื่อว่าเฮนรี เวด (Henry Wade) จึงเป็นที่มาของชื่อคดีประวัติศาสตร์ Roe v Wade นั่นเอง

กลุ่มผู้ต่อต้านการทำแท้ง

หลังจากศาลของรัฐเทกซัสได้ยกคำร้องดังกล่าว คดีนี้ได้ไปถึงศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในปี 1973 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาร่วมกับคดีที่คล้ายกันของหญิงสาวอีกคนหนึ่งจากรัฐจอร์เจียว่า กฎหมายห้ามการทำแท้งของรัฐเทกซัสและรัฐจอร์เจียขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เพราะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของสตรี ทั้งยังตัดสินว่าสิทธิยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้น ได้รับการคุ้มครองโดยชอบจากกฎหมายในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ

กฎหมายที่ให้สิทธิในการทำแท้ง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการในคดี Roe v Wade นั้น ให้สิทธิในการทำแท้งได้อย่างเต็มที่ในทุกกรณี เมื่ออายุครรภ์ยังอยู่ในช่วง 3 เดือนแรก แต่รัฐอาจจำกัดสิทธิบางอย่างได้ในการตั้งครรภ์ระยะที่สองช่วง 4-6 เดือน และมีสิทธิสั่งห้ามทำแท้งได้ในหญิงที่มีครรภ์แก่ระยะสุดท้าย 7-9 เดือน เนื่องจากทารกใกล้คลอดและสามารถจะมีชีวิตอยู่นอกครรภ์มารดาได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินใหม่ของศาลสูงสุดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งวินิจฉัยให้กฎหมายห้ามทำแท้งหลังอายุครรภ์เกิน 15 สัปดาห์ของรัฐมิสซิสซิปปี สามารถบังคับใช้อยู่ต่อไปได้ ทำให้คำพิพากษาในคดี Roe v Wade ในอดีตเป็นโมฆะ ส่วน 13 รัฐฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เตรียมออกกฎหมายใหม่รอไว้ก่อนแล้ว ก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามการทำแท้งในพื้นที่ของตนทันที

ในการกลับคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์นี้ คณะผู้พิพากษาส่วนใหญ่ถึง 6 ใน 9 คน ได้รับการแต่งตั้งโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มชาตินิยมผิวขาวเคร่งศาสนาที่รณรงค์ต่อต้านการทำแท้งมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองสิทธิการทำแท้งที่มีรากฐานจากคดี Roe v Wade นั้น เป็นหลักการที่ถูกต้องและสมดุลซึ่งชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติศาสนาให้การยอมรับมานาน เพราะมีทั้งการรับรองสิทธิส่วนบุคคลในร่างกายของสตรี และยังเปิดโอกาสให้รัฐเข้าควบคุมการทำแท้งได้ตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี แต่หลักการนี้ต้องสั่นคลอนเมื่อมาถึงยุคของทรัมป์ เนื่องจากสังคมอเมริกันถูกทำให้ขัดแย้งแตกแยกกันมากขึ้น

กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง

ผู้นำคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ยังบอกว่า การตัดสิทธิของหญิงอเมริกันในครั้งนี้ เป็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีมานานหลายทศวรรษ เพื่อที่จะทำให้ “อุดมการณ์สุดโต่ง” ของพวกตน กลายเป็นนโยบายที่ได้รับการปฏิบัติจริงขึ้นมา

ในขณะที่ชาวอเมริกันฝ่ายเสรีนิยมที่มีพรรคเดโมแครตหนุนหลัง กำลังเตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายห้ามทำแท้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ กลุ่มชาตินิยมหัวอนุรักษ์ที่มักจะยึดถือแนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่ อย่างเช่นกลุ่ม Proud Boys ได้ออกมาเตือนให้กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิการทำแท้ง ร่วมชุมนุมหรือเดินขบวนกันโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อความวุ่นวายกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งพวกเขาจะจับตาดูและไม่ยอมให้มีการละเมิดสิทธิของฝ่ายตนเป็นอันขาด

ความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มว่าจะยกระดับความตึงเครียดทางการเมือง และอาจนำไปสู่การปะทะต่อสู้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงภายในชาติครั้งใหม่ได้

622 Views