ฟังรายการสัมภาษณ์
Professor Tyrell Haberkorn of University of Wisconsin-Madison (ญ) and Professor Allen Hicken of University of Michigan (ช)


[responsivevoice voice=”Thai Female” buttontext=”ฟังข่าว 6 นาที”]

“ตอนที่เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมาไม่ได้คิดว่าจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความเชื่อในพลังของประชาชน แต่เพราะว่ามีความเป็นห่วงว่ารัฐจะใช้วิธีการปราบปรามที่ใช้ในหกปีที่ผ่านมา”

การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม บนถนนราชดำเนินกลาง รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นปรากฎการณ์ที่ ศาสตราจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ผู้ศึกษาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด บอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น ไม่เฉพาะจำนวนผู้เข้าชุมนุมหลักหมื่น แต่ยังเป็นการชุมนุมของคนหลายภาคส่วน ทุกเพศทุกวัย ทั้งในและนอกกรุงเทพ

“ไม่ค่อยมีการรวมตัวแบบนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็จะนึกถึงช่วง 14 กับ 6 ตุลาที่มีหลาย ๆ กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่ก็จะเชื่อมเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ”

Professor Tyrell Haberkorn of University of Wisconsin-Madison (L) and Professor Allen Hicken of University of Michigan
Professor Tyrell Haberkorn of University of Wisconsin-Madison (L) and Professor Allen Hicken of University of Michigan

จาก ‘แฟลช ม็อบ’ สู่ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน

การชุมนุมที่เริ่มจาก “แฟลช ม็อบ” (flash mob) ภายในรั้วสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ ในวันนี้ได้กลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปีตั้งแต่มีรัฐประหาร โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน

ศาสตราจารย์​ อัลเลน ฮิคเกน (Allen Hicken) อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan University) มองว่ารัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สร้างความไม่พอใจให้สังคมไทย อีกทั้งยังมีผู้ที่อึดอัดคับข้องใจกับบทบาทของกองทัพในการเมือง การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 และการยุบพรรคอนาคตใหม่

กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” ที่พัฒนามาจาก “เยาวชนปลดแอก” ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา

 

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของรัฐและผู้มีอำนาจ มองว่าการคุกคามของรัฐยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการหายตัวไปในรูปแบบต่าง ๆ ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กรณีการลักพาตัว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย

“สิ่งที่เห็นตั้งแต่รัฐประหาร ที่จริงก็เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นบ่อยมากหลังจากรัฐประหาร คือการที่รัฐเผด็จการใช้กฎหมาย ยัดข้อกล่าวหากับคนที่ออกมาชุมนุมหรือวิจารณ์รัฐบาล ช่วงรัฐบาล คสช. จะเห็นว่าหลาย ๆ ครั้งจะใช้เพื่อหยุดขวางการประท้วง”

An activist holds a picture of Wanchalearm Satsaksit, 37, a Thai political activist who was abducted by unknown gunmen in front of his Phnom Penh apartment, during a protest for his disappearance in Bangkok, Thailand, June 5, 2020.

ศาสตราจารย์ไทเรล เคยใช้เวลาในประเทศไทยในฐานะนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย จนสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว กล่าวต่อว่ารัฐใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ไป “พูดคุย” กับผู้ที่เห็นต่าง

“ในกรณีนิสิต นักศึกษา จะส่งไปคุยกับผู้ปกครอง ญาติ อันนี้ก็เป็นวิธีการกดดันที่มีพลังพอสมควร ทุกคนรู้ว่าตำรวจน่ากลัวแต่พ่อแม่ยิ่งน่ากลัวกว่า หรือส่งไปคุยกับครู หรือ ผอ. ที่โรงเรียน มันไม่ concrete (เป็นรูปธรรม) เท่าข้อกล่าวหา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้พื้นที่สำหรับความคิดเห็นมันแคบลงแน่ ๆ…เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว จริง ๆ ก็เป็น ‘อำนาจมืด’ ชนิดหนึ่งที่เขาพูดถึง”

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: ข้อเสนอ “เขย่าสังคม” ในบริบทไทย

ประเด็นที่มีการพูดถึงและสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมประเด็นหนึ่ง คือการที่มีนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มได้เรียกร้องในเวทีสาธารณะ ให้มีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของกลุ่ม ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน บอกว่าเธอได้ฟังการเสนอข้อเรียกร้อง 10 ประการ ที่อ่านโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านช่องทางการถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดีย

“อย่างที่ อาจารย์ธงชัย วินิจกุล เขียน คือ สิ่งที่คุณปนัสยาพูด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครพูด มี แล้วก็มีแรงกว่านี้เยอะ แต่คนก็จะพูดในบ้าน เวลาคุยกับเพื่อน และจะใช้คำอื่นเหมือนกัน คนมีวิธีการพูดถึงคนในสถาบันกษัตริย์ในภาษาที่ไม่ตรงไปตรงมา ก็เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์จริง ๆ ที่มีคนออกมาพูด จริง ๆ ก็คิดว่าแถลงการณ์สิบข้อนั้นเป็นการเชิญประชาชนและคนทั่วประเทศคุยกันเรื่องนี้ เป็นการชวนคนมีส่วนร่วมในการวางแผนอนาคต…ก็คิดหลายครั้ง ก็กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญในตอนนี้ และรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วก็คิดว่าสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้อง มันเป็นสิ่งที่ถูกตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีข้อสงสัยเลยนะคะ”

ด้าน ศาสตราจารย์อัลเลน ฮิคเกน บอกว่าจากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่าข้อเสนอเหล่านี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน จากการที่เขาติดตามข่าว พอจะเห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมบางกลุ่มมองว่าการผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัติรย์มากจนเกินไป จะทำให้สูญเสียมวลชน ด้วยความที่สังคมไทยยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่สูง ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ออกมาประกาศปกป้องสถาบันก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเช่นกัน

Pro-democracy students raise a three-finger salute, a resistance symbol borrowed by Thailand’s anti-coup movement from the movie “The Hunger Games,” during a protest at Thammasat University near Bangkok, Thailand, Aug, 10, 2020.

เยาวชนคนรุ่นใหม่ แรงขับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนโลก

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไทเรล มองว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาไทย สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในหลายประเทศทั่วโลก ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นผู้มีบทบาทในการออกมาพูดและเรียกร้องในสิ่งที่คนรุ่นก่อน ๆ ไม่กล้า

“ครั้งนี้ สิ่งที่นักศึกษาและประชาชนกำลังเรียกร้อง คล้าย ๆ กับสิ่งที่คนอื่น ๆ กำลังเรียกร้อง คิดว่ามีคนอื่นทั่วโลกที่พร้อมจะสนับสนุนเหมือนกัน และพร้อมจะประณามว่าการใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อคน”

ก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งคำถามว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเยาวชนหรือไม่ และย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน มีการเตือนไม่ให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้ยุติการแบ่งฝักฝ่าย แต่พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้มีการพูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด

“ไม่เชื่อว่า ประยุทธ์พร้อมที่จะลงออกจากอำนาจ ก็ไม่เชื่อ แต่คิดว่าการที่เขาจะดูถูก หรือจะไม่ยอมคุย ไม่แสดงความเคารพชนิดหนึ่ง ก็คิดว่าเขาทำไม่ได้แล้ว”[/responsivevoice]


รายงานข่าวโดย VOA Thai 

หมายเหตุ: ในรายงานวิทยุประกอบบทความนี้ มีข้อผิดพลาดสองประการ ตำแหน่งของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น คือ ศาสตราจารย์ ไม่ใช่ รองศาสตราจารย์ และนามสกุลที่ถูกต้องของ อัลเลน ฮิคเกน คือ ฮิคเกน ไม่ใช่ ฮิคเกนส์ ทางวีโอเอต้องขออภัยเป็นอย่างสูงในความผิดพลาดดังกล่าว

1,260 Views