ด้วยหน้าที่การงานในแผนกผู้ป่วยหนัก (Intermediate Care Unit) อัญชลี ดุลยฐิติกุล พยาบาลไทยในอเมริกา จึงได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่เริ่มมีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ และการเป็นบุคลากรทางการแพทย์นี้เอง ที่ทำให้อัญชลีเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเธอบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน

“เราก็ไม่คิดหรอกค่ะว่าเราจะได้ เราไม่คิดว่าเขาจะผลิต (วัคซีน) ได้ในปีนี้ด้วย ก็อ่านข้อมูลไปเรื่อย ๆ ทำงานไปเรื่อย ๆ พอต้น ๆ เดือนนี้ เพื่อนก็เริ่มบอกว่ามีแล้วนะ พี่ก็ไม่ได้คิดจะฉีด ก็คิดว่าให้เพื่อนที่อยู่ ICU ฉีดไปก่อนละกัน”

จุดที่ทำให้อัญชลีตัดสินใจเข้ารับวัคซีน คือการที่ได้เห็นจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มมากขึ้นในการระบาดระลอกที่สองในสหรัฐฯ การสัมผัสและคลุกคลีกับผู้ป่วย ทำให้เธอได้เห็นความทุกข์ทรมานและความตายที่เข้ามาพรากชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก

“พี่คิดถึงคนอื่นรอบข้างเราก่อนนะ เพราะเราสัมผัสกับคนไข้แล้วเห็นความตายตลอดเวลาแล้วมันเป็นความตายที่เร่งรีบมาก อัตรามันสูงมาก เราก็คิดว่าถ้าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคนอื่นได้ แล้วถ้าเราอยู่ตรงนี้แล้วเราไม่แข็งแรง เราก็จะช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจว่าไปฉีดดีกว่า เพราะอย่างน้อย หนึ่ง ถ้าผลข้างเคียงหรือผลการศึกษา หรือ research (งานวิจัย) ที่เขาทำ ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากเรา ถ้าเรามีอาการอะไรที่เป็นผลข้างเคียงจริง เขาจะเอาไปพัฒนาต่อก็ได้ มันก็เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นอื่น ๆ อันที่สอง ถ้าเราได้รับแล้ว แล้วเราแข็งแรง เราสามารถที่จะดูแลคนไข้ได้อีกไม่รู้กี่ร้อยชีวิต อันที่สามคือ เราต้องแข็งแรงเพื่อลูกเรา อันนี้จะคิดอันหลังสุดเลย”

โรงพยาบาล University of Maryland Upper Chesapeake Medical Center ที่อัญชลีทำงานมาเป็นเวลา 5 ปี ได้ให้ข้อมูลเรื่องวัคซีนแก่บุคลากรภายใน แต่การตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละคน

Anchalee Dulayathitikul, Thai nurse in Maryland
Anchalee Dulayathitikul, Thai nurse in Maryland

พยาบาลไทยวัย 55 ปีผู้นี้ ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน โดยเป็นวัคซีนที่บริษัทไฟเซอร์ผลิตร่วมกับไบโอเอ็นเทค และเป็นวัคซีนแรกที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐฯ

อัญชลีเล่าว่าก่อนจะฉีดวัคซีน มีการซักประวัติ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการหรือปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฉีดวัคซีน และเมื่อฉีดเสร็จแล้ว เธอได้ติดตามดูอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด

“พี่มีปัญหาคือมันเป็นผื่นขึ้นที่ต้นขาทั้งสองข้าง ผื่นเหมือนผื่นลมพิษค่ะ เป็นปื้นอยู่สองปื้นประมาณ 5 เซนติเมตร จริง ๆ ถ้ามีผื่นขึ้นทั้งตัวเขาเรียกว่ามันเป็น severe allergic reaction (การแพ้อย่างรุนแรง) ต่อวัคซีน แต่พี่เป็นแค่ตรงโคนขา เราก็ไปทานแล้วมันก็หายไป พอ 6 ชั่วโมงหลังจากนั้นพี่ก็เริ่มครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ก็ไม่ได้ทานยา สังเกตอาการต่อไปว่ามันจะมากขึ้นแค่ไหน”

“แต่ 12 ชั่วโมงรู้เลยว่า อาการครั่นเนื้อครั่นตัวมันเยอะมากและเรารู้สึกเพลีย เพราะปกติ 12 ชั่วโมงหลังจากที่เราทำงานเราจะตื่นได้แล้ว แต่นี่เรารู้สึกเพลีย เลยทาน tylenol ไป 2 เม็ด แล้วก็ตื่นเช้าอีกทีหนึ่ง น่าจะเป็นชั่วโมงที่ 20 ก็ตื่นมาทาน tylenol ไปอีกสองเม็ด พอ 24 ชั่วโมงตื่นขึ้นมาก็รู้สึกดีขึ้น อาการครั่นเนื้อครั่นตัวก็หายไป แล้วก็ 48 ชั่วโมงพี่ก็กลับไปทำงานเมื่อคืน ก็สบายดี ไม่มีผลข้างเคียงอะไร ไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจลำบาก แล้วรู้สึกสบายดี”​

Anchalee Dulayathitikul, a Thai nurse in Maryland, has been providing care for Covid-19 patients since the beginning of the outbreak in March 2020.
Anchalee Dulayathitikul, a Thai nurse in Maryland, has been providing care for Covid-19 patients since the beginning of the outbreak in March 2020.

เมื่อทราบว่าอัญชลีได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว กลุ่มคนไทยในรัฐแมรีแลนด์และรัฐใกล้เคียงต่างพากันติดต่อสอบถามเข้ามา ซึ่งเรื่องที่หลายคนสงสัยใคร่รู้ คือเรื่องผลข้างเคียง

“เพราะว่ามันเป็นวัคซีนตัวใหม่ (คนถามว่า) ฉีดแล้วกลัวไหม ผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นพี่ถึงทำ timeline (ลำดับการเกิดเหตุการณ์) ตัวเองว่าหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว จะเจออะไรบ้าง รุนแรงไหม แต่ว่าทุกคนจะไม่เหมือนกัน แต่เราจะเล่าแค่ว่าประสบการณ์ตัวเองคืออะไร…พี่อยากให้ข้อมูล แต่จะไม่ไปโน้มน้าวใครว่าฉีดหรือไม่ฉีด”

พยาบาลไทยในแมรีแลนด์ผู้นี้แนะนำว่า แต่ละคนควรจะปรึกษาแพทย์ประจำตัว และศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนที่จะรับให้มากที่สุด เพื่อขจัดข้อข้องใจและความกังวลที่หลายคนอาจมีอยู่

“จริง ๆ แล้วแต่ละคนมีสุขภาพไม่เท่ากัน อย่างแรกคือควรจะคุยกับแพทย์ที่ดูแลเราว่าเรามีความเสี่ยงอะไรไหมในการที่จะเข้ารับวัคซีน เพราะวัคซีนที่ได้ไปอย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างที่พี่บอก ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศรีษะ มีไข้ อะไรแบบนี้ มีผื่น หรือมีอาการแพ้ แต่ละคนมันก็แตกต่างกันไป”

“พี่แนะนำให้เข้าไปอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนก่อน พอเราเข้าใจแล้วว่าวัคซีนตัวนี้ผลิตมาอย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร มันไม่ใช่เชื้อโรคที่ฉีดเข้าไปเหมือนสมัยก่อนที่เป็นเชื้อโรคที่ทำให้อ่อนแอลง แล้วฉีดให้ร่างกายเราสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา กระบวนการผลิตมันจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอเราเข้าใจเรื่องการออกฤทธิ์ของวัคซีนแล้ว ข้อมูลพวกนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจ”

Anchalee Dulayathitikul, a Thai nurse in Maryland, received the first shot of Covid-19 vaccine in December.

ถึงแม้ว่าจะยังมีการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะยาว ว่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นระยะเวลานานเท่าใด อัญชลีหวังว่าวัคซีนจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดโควิด-19 ในอนาคต

“อย่างน้อยเราป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อเข้ามา เพื่อที่จะไปแพร่กระจายให้คนอื่น เพราะฉะนั้นถ้ากลุ่มประชากรเราได้รับกันถ้วนหน้า พี่มีความมั่นใจว่า ปีหน้าจำนวนคนที่ติดเชื้อก็จะลดลง”

อัญชลีมีกำหนดที่จะรับวัคซีนเข็มที่สองในวันที่ 11 มกราคมนี้ และถึงแม้จะมีวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว เธอย้ำว่าทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอื่นๆ อย่างเคร่งครัดต่อไป เช่น การหมั่นล้างมือ การใส่หน้ากาก เพราะการต่อสู้กับโควิด-19 ต้องใช้มาตรการหลายอย่างร่วมกัน

นอกจากนี้ เธอยังมองว่า หากทุกคนตระหนักถึงภัยของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และร่วมแรงร่วมใจป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันผู้อื่นในสังคม ความปกติสุขของชีวิตที่ทุกคนโหยหา ก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง

980 Views