องค์การสหประชาชาติเตือนว่า อาจมี “ความรุนแรงครั้งใหญ่” ในเมียนมา ขณะที่ผู้คนเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร
เมื่อวันพุธ ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันบนถนนในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แม้กองทัพเมียนมาจะสั่งห้ามประชาชนชุมนุมมากกว่าสี่คนก็ตาม โดยผู้ประท้วงต่างพากันจอดรถปิดถนนและสะพานที่มุ่งหน้าไปยังนครย่างกุ้ง เปิดกระโปรงรถทิ้งไว้เพื่อให้ดูเหมือนว่ารถมีปัญหาเครื่องยนต์ เพื่อกันไม่ให้รถของตำรวจและทหารเข้ามายังตัวเมืองได้ นับตั้งแต่ออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคนอื่น ๆ ถูกกองทัพคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ผู้ประท้วงต่างพากันเดินขบวนบนเมืองใหญ่ทั่วประเทศ พวกเขาเดินชูป้ายสนับสนุนประชาธิปไตย โดยส่วนมากชูคู่กับรูปของนางซูจี พร้อมชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการกดขี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จากภาพยนตร์ชุด “ฮังเกอร์ เกมส์” พนักงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งข้าราชการ ต่างเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารด้วยการหยุดงาน ในขณะที่กองทัพเมียนมาสั่งให้ข้าราชการกลับเข้าทำงานและขู่ว่าจะดำเนินการลงโทษพวกเขา
กองกำลังความมั่นคงใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการยิงปืนขู่ ใช้กระสุนยางและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม องค์กร Assistance Association for Political Prisoners ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในเมียนมา ระบุว่า มีการจับกุมประชาชนกว่า 450 ครั้งนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และการจับกุมหลายครั้งเป็นการบุกจู่โจมในยามวิกาล ทอม แอนดริวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลทหารเมียนมาชุดก่อนมีการใช้กองกำลังในลักษณะนี้ ก่อนที่จะมีการฆ่า การสูญหาย และการคุมขังประชาชนขนานใหญ่
แอนดริวส์แสดงความกังวลว่า การประท้วงขนาดใหญ่และการปฏิบัติการของกองกำลัง อาจทำให้เมียนมาเผชิญวิกฤติที่กองทัพ “อาจก่ออาชญากรรมครั้งใหญ่ยิ่งกว่าต่อชาวเมียนมา” ได้ กองทัพเมียนมายังระงับการใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศชั่วคราวเป็นคืนที่สามติดต่อกัน นับจนถึงวันอังคาร
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาอ้างว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีได้รับชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย ทำให้กองทัพต้องเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว
หลังจากยึดอำนาจการปกครองแล้ว รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปีและสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ นางซูจีถูกควบคุมตัวในบ้านพักที่กรุงเนปิดอว์นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร เมื่อวันอังคาร เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาที่สองที่อาจทำให้เธอถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด ทนายของนางซูจีระบุหลังเข้าพบผู้พิพากษาว่า เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎการควบคุมการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยก่อนหน้านี้ เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าครอบครองเครื่องรับส่งวิทยุมือถือนำเข้าโดยไม่มีใบอนุญาต โดยอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดสามปี ทางด้านประธานาธิบดี อู วิน มินต์ ก็ถูกควบคุมตัวในบ้านพักเช่นกัน
ประเทศตะวันตกต่างพากันประณามการทำรัฐประหารในเมียนมา แม้แต่จีนเองก็เริ่มแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาเช่นกัน โดยเฉิน ไห่ ทูตจีนประจำเมียนมา ระบุเมื่อวันอังคารว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ “จีนไม่ต้องการเห็นอย่างแน่นอน”