ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้แถลงตอนหนึ่งว่าอยู่ระหว่างการจัดซื้อวัคซีนหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น “สปุตนิกวี, คอนวิดีเซีย แอดไฟฟ์แอนด์คัฟเวอร์ แอนด์โควิด แอนด์แคสซิโนไบโอโลจิก, ซิโนฟาร์ม, บารัตไบโอแทต ไบโอเทค หรือไฟเซอร์” ซึ่งกลายเป็นข้อสรุปชวนงุนงงว่า ประเทศไทยติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทไหนไปแล้วบ้าง

The Momentum จะช่วยเฉลยว่า วัคซีนแต่ละประเภทที่นายกรัฐมนตรีพูดถึง ‘น่าจะ’ เป็นวัคซีนอะไรที่อยู่ในท้องตลาดขณะนี้

1. Sputnik V

วัคซีนชนิดเชื้อตาย สัญชาติรัสเซีย เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัส แบบเดียวกับของแอสตร้าเซเนก้า จุดเด่นที่น่าสนใจคือ วัคซีนชนิดนี้มีผลการทดลองภายในวารสารทางการแพทย์ Lancet ว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ถึง 91.6% โดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ทำให้วัคซีนชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยยอดสั่งจอง ณ เดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นไปถึง 1,000 ล้านโดสแล้วทั่วโลก

ปัจจุบัน Sputnik V ได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วใน 61 ประเทศ เช่น เบลารุส อาร์เจนตินา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮังการี ฯลฯ รวมถึงมีมากกว่า 50 ประเทศ ที่สั่งจองวัคซีนชนิดนี้ของรัสเซีย ทั้งยังมีการตั้งโรงงานในหลายประเทศ ทั้งในอินเดีย บราซิล จีน ฮังการี และล่าสุด บริษัทของเกาหลีใต้ได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนชนิดนี้ โดยจะสามารถผลิตวัคซีน Sputnik V ได้มากกว่าเดือนละ 100 ล้านโดส

2. Convidecia หรือ Ad5-nCov โดย CanSino

วัคซีนชนิดนี้ผลิตโดยบริษัท CanSino ของจีน เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัส เทคโนโลยีใกล้เคียงกับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ไทยสั่งซื้อและ Sputnik V ของรัสเซีย โดยใช้พันธุกรรมของโคโรนาไวรัส 2019 ใส่ไปในไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ ฉีดเพื่อให้สร้างภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือราคาถูก และสามารถเก็บรักษาง่าย รวมถึงเป็นวัคซีนชนิด ‘เข็มเดียว’ แบบเดียวกับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ผลการทดลองเฟส 3 ของ Convidecia พบว่ามีประสิทธิภาพ 65.7% ในการป้องกันอาการของโรคโควิด-19 ในระดับปานกลาง และ 91% ในการป้องกันอาการร้ายแรงของโรค ซึ่งยังคงต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ปัจจุบันได้รับอนุญาตให้ใช้งานแบบฉุกเฉินแล้วในจีน เม็กซิโก ปากีสถาน ฮังการี และชิลี รวม 5 ประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 500 ล้านโดส ภายในปีนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งเข้ามาแล้ว 3.5 ล้านโดส รวมถึงอินโดนีเซียที่คาดว่าจะฉีดให้ประชาชนได้ 15-20 ล้านโดสภายในปีนี้ และในเม็กซิโกคาดว่าจะมีการใช้วัคซีนชนิดนี้กว่า 35 ล้านโดส

3. Sinopharm

ผลิตโดยประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยเพาะเลี้ยงไวรัสจำนวนมาก จากนั้นทำให้ตาย แล้วใส่รวมเข้ากับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมกับการผลิตวัคซีนอื่นๆ แบบเดียวกับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ทั้งนี้ยังคงไม่มีผลการทดลองเฟส 3 อย่างเป็นทางการ แต่ผลการทดลองเฟส 3 เบื้องต้นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามที่บริษัทผู้ผลิตแถลงนั้น อยู่ที่ 79.34%

วัคซีนจากซิโนฟาร์ม ถือเป็นวัคซีนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ โดยได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วใน 34 ประเทศ และมีการใช้งานแล้วกว่า 16 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

4. Covaxin by Bharat Biotech

ผลิตในประเทศอินเดีย และได้รับการอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินที่อินเดียไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย เป็นผู้ทดลองวัคซีนชนิดนี้ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อยืนยันความปลอดภัยให้กับประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์ของอินเดียเชื่อถือวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้ามากกว่า Covaxin แม้บริษัท Bharat Biotech นั้นจะเป็นผู้ผลิตวัคซีนมาแล้วกว่า 16 ชนิด และส่งออกวัคซีนไปแล้วทั่วโลก

ทั้งนี้ Covaxin เป็นวัคซีนประเภท ‘เชื้อตาย’ โดยบริษัทผู้ผลิตระบุว่า จากการทดลองเฟส 1-3 ในอินเดีย จากอาสาสมัครกว่า 2.7 หมื่นคน Covaxin มีประสิทธิภาพสูงถึง 81% โดยบริษัทได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วในซิมบับเว มอริเชียส เนปาล ปารากวัย และเม็กซิโก รวม 6 ประเทศ ขณะที่กรมควบคุมโรคของไทยรายงานว่า Bharat Biotech อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการส่งเอกสาร

ผู้ผลิตยืนยันว่าโรงงานที่มีอยู่ในขณะนี้ สามารถผลิตได้ขั้นต่ำ 300 ล้านโดส โดยอยู่ในระหว่างการสร้างโรงงานแห่งที่สองเพื่อขยายการผลิต และอาจตั้งโรงงานในประเทศบราซิลอีกด้วย

5. Pfizer

วัคซีนชนิด mRNA สัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมผลิตกับบริษัทไบออนเทคของเยอรมนี ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินแล้วใน 82 ประเทศ วัคซีนไฟเซอร์ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้มาก่อน วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานเป็นวงกว้าง ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2563 และได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากผลการทดลองพบว่ามีประสิทธิภาพเกิน 90%

แต่ก็มีด้านที่อาจเป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในตู้แช่ที่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ทำให้ยากลำบากต่อการจัดส่ง และอัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ เพิ่งออกมายอมรับเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม อาจต้องรับเข็มที่ 3 หลังจากฉีดไปแล้ว 6-12 เดือน และเป็นไปได้ว่าอาจต้องฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นลดน้อยลงหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และ 3 ไปแล้ว 6 เดือน

ที่มา:
– https://covid19.trackvaccines.org/vaccines/
– https://www.caixinglobal.com/2021-04-02/charts-of-the-day-covid-vaccines-by-the-numbers-101685347.html
– https://www.livemint.com/science/health/covaxin-may-take-at-least-2-months-to-scale-up-11618510545822.html
– http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/14/c_139879533.htm
– https://ourworldindata.org/covid-vaccinations

ภาพ: สำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มา : TheMomentum

689 Views