สามเดือนหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา ถึงแม้เหตุการณ์ประท้วงของพลเรือนตามท้องถนนจะลดน้อยลงหลังจากที่ฝ่ายทหารของเมียนมาจับกุมผู้ประท้วงไปหลายพันคนและมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 750 คนก็ตาม แต่กองทัพเมียนมาก็กำลังเผชิญการต่อต้านจากคู่ปรับเก่าอย่างหนักข้อมากขึ้น คือจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือ KNU ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อกว่า 70 ปีแล้ว

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU เป็นองค์กรทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในเมียนมา และได้เรียกร้องความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง รวมทั้งมีความขัดแย้งกับรัฐบาลกลางของเมียนมามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2491 หลังจากที่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ชนกลุ่มน้อยที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพของเมียนมานั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกองกำลังของชาวกะเหรี่ยงในรัฐคะฉิ่นแต่เพียงกลุ่มเดียว เพราะยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ ที่อยู่ในเมียนมาด้วย

เมื่อปลายเดือนมีนาคม สื่อ CNA ของสิงคโปร์รายงานว่า คณะผู้ปกครองทหารของเมียนมาซึ่งเรียกตัวเองว่า State Administration Council ได้ประกาศเรื่องการหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นเวลาหนึ่งเดือน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของคุณ Dave Eubank ผู้อำนวยการของกลุ่มด้านมนุษยธรรมชื่อ Free Burma Rangers นั้น การหยุดยิงตามที่มีรายงานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และการโจมตีจากกองทัพเมียนมาต่อเป้าหมายของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ก็ยังดำเนินต่อไป

แต่จากความโกรธแค้นไม่พอใจซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศหลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ขณะนี้ก็มีสัญญาณว่าชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในเมียนมา อาจรวมตัวกันเพื่อช่วยต่อต้านกองทัพเมียนมา

โดยนาย Padoh Saw Taw Nee หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้กล่าวว่า ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ก็ตาม แต่การรวมตัวเพื่อร่วมมือต่อต้านกองทัพเมียนมานับเป็นความฝันหรือความหวังที่มีมานานหลายปีแล้ว แต่เขาก็ยอมรับว่าโอกาสที่ความฝันนี้จะเป็นจริงอาจจะยาก และมีความสลับซับซ้อนอยู่มากทีเดียว

หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับกองทัพเมียนมาซึ่งรุกคืบเข้ามา และว่า นอกจากความกดดันทางทหารแล้วก็ยังต้องใช้ความกดดันด้านอื่น เช่น ทางการเมืองและทางสังคมด้วย ทั้งนี้เพื่อผลักดันระบอบการปกครองโดยทหารของเมียนมาให้ยอมเจรจา

นาย Padoh Saw Taw Nee ให้ข้อมูลด้วยว่า การระดมยิงด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมาในช่วงหลังนี้ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเสียชีวิตไปกว่า 200 คน แต่ก็มีรายงานจากรอยเตอร์เช่นกันว่า กองกำลังของชาวกะเหรี่ยงสามารถเข้ายึดที่มั่นของทหารเมียนมาในบริเวณที่ใกล้กับพรมแดนด้านไทยได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การสู้รบด้วยอาวุธระหว่างกองทหารรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ ตัวแทนของกลุ่มประชาสังคมชื่อ Karen Peace Support Network ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนกะเหรี่ยงที่เปราะบาง ได้กล่าวว่า ขณะนี้พลเรือนชาวกะเหรี่ยงกำลังมีปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรมเพราะการโหมโจมตีของกองทัพเมียนมาทำให้ผู้คนต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่อาศัยนับหมื่นคน

และทางกลุ่มก็ได้เรียกร้อง รวมทั้งหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านสิ่งบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ เพื่อให้ความสนับสนุนด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวกะเหรี่ยงที่ต้องพัดถิ่นนี้สามารถดำเนินต่อไปได้

722 Views