กลุ่มเครือข่ายชาวไทยในหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯจัดกิจกรรม’22 พฤษภาฯกินพิซซ่าล่าเผด็จการ’ ในโอกาสครบรอบ 7 ปี การก่อรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อปี วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการการสืบทอดอำนาจรัฐประหารและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
กลุ่มชาวไทยเครือข่าย ‘Thai Rights Now’ ในสหรัฐฯ นัดชุมนุมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘22 พฤษภาฯ กินพิซซ่า ล่าเผด็จการ’ ในโอกาสครบรอบ 7 ปี การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นัดหมายจัดกิจกรรมพร้อมกันแบบคู่ขนานจากหลายสถานที่ในหลายเมืองใหญ่ ประกอบด้วยเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ,เมืองชิคาโก รัฐอิลินอยส์ ,นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ,นครซานฟรานซิสโก และนครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ,เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน รวมไปถึงเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
ที่นครนิวยอร์ก ผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมที่บริเวณสวนสาธารณะ Washington Square Park ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน ผู้ชุมนุมนำพิซซ่ามาแจกและรับประทานพร้อมกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องการปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย เรียกร้องการปล่อยนักโทษการเมืองและต่อต้านเผด็จการ โดยมีแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรชานมจากนานาชาติ เช่น เมียนมาและฮ่องกง ร่วมชุมนุมด้วย
เจเจ แมทธิสัน หนึ่งในแกนนำการชุมนุมในนครนิวยอร์ก กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการชุมนุมครั้งนี้ว่า “วันนี้เป็นวันครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร ซึ่งมันก็เกิดปัญหาครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศชาติเลย แล้วมันก็ยืดเยื้อเรื้อรังมา ถึงแม้ว่าเราจะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่กฎกติกาที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะคสช.ก็คือการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอยู่ค่ะ การที่เราจะต้องขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำต่อไป”
ผู้ประท้วงยังมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การรวมกลุ่มกันกินพิซซ่าซึ่ง เจเจ บอกว่า “สำหรับคนที่ติดตามการเมืองจะรู้ว่ามันเป็นฮอตไลน์โทรเรียกพิซซ่าเบอร์ 1112 ซึ่งมันก็คล้ายๆกับ ม.112 ในการจับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันเพราะฉะนั้นเราก็ใช้ตัวนี้เป็น gimmick ในการจัดงานวันนี้ค่ะ”
ด้านนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ผู้ลี้ภัยการเมือง และนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางร่วมกิจกรรมด้วย บอกถึงการเคลี่อนไหวของรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลพวงด้านบวกที่พอจะมีอยู่บ้างจากการรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อน
“ผมคิดว่า 7 ปีที่ผ่านมา มองกลับไปเนี่ย ประเทศไทยอาจจะเสียอะไรไปเยอะ แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมันก็เป็นผลมาจากการทำรัฐประหารครั้งนั้น แล้วอันนี้มันทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก มันเป็นอันเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกมีความหวังอยู่” ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ
ที่นครเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทส์ ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่จตุรัสภูมิพลฯ กล่าวปราศรัย แสดงสัญลักษณ์และจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ภัทรภร กิตติศัพท์ขจร แกนนำกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยไทย ที่นครบอสตัน (Boston for Thai Democracy) บอกว่า ถึงแม้จะผ่านมา 7 ปีแล้ว อำนาจก็ยังอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งใน ปี ค.ศ. 2019 นั้นเกิดขึ้นภายใต้กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่มาอำนาจของ ส.ว.(วุฒิสมาชิก) ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นการจับกุมประชาชนที่เห็นต่าง การกระทำเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศเราเนี่ยยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอยู่
เช่นเดียวกับที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์, นครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน และนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มีการรวมตัวกันในจุดสำคัญของเมืองใหญ่ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ส่วนนครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่บริเวณ Hollywood Walk of Frame ในย่านฮอลลีวูด กล่าวปราศรัย ถือป้ายประท้วง และแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมเน้นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและปัญหาประชาธิปไตยในไทยที่มีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ มาตรา 112 กับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ตรวจสอบและต่อต้านรัฐบาล
นอกจากนี้ยังเป็นการรำลึกถึงการครบรอบรัฐประหาร 7 ปี และเป็นการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้กับชาวอเมริกันและนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณที่ชุมนุมได้รับทราบจากป้ายข้อความ และการปราศรัยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีผู้สนใจหยุดฟังและเข้ามาสอบถามจำนวนหนึ่ง