กว่า 11 เดือนแล้วที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ ประเทศที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับประเทศไทย ได้เปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว และเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ
วีโอเอไทยมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวของมัลดีฟส์ ถึงยอดนักท่องเที่ยวที่เริ่มทยอยเข้าประเทศ พร้อมทั้งพูดคุยกับองค์กรสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ PATA ถึงการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์จากประเทศจีน
มัลดีฟส์เป็นประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยหมู่เกาะต่างๆราว 1,200 เกาะ ความสวยงามของน้ำทะเลและธรรมชาตินั้น เป็นจุดขายหลักของธุรกิจท่องเที่ยวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมัลดีฟส์ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
แต่การระบาดของโควิดทำให้มัลดีฟส์ต้องปิดพรมแดนไปถึงห้าเดือน และสูญเสียรายได้ไปเกือบ 50% เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลมัลดีฟส์จึงเร่งแจกจ่ายวัคซีนให้ประชากรไปกว่าค่อนประเทศ และพยามดึงดูดชาวต่างชาติให้กลับมาเที่ยว
โดยไตรมาสแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศราว 390,000 คน รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวแห่งประเทศมัลดีฟส์ อับดุลลาห์ มาซูม บอกกับวีโอเอไทยว่า
“ธุรกิจท่องเที่ยวในมัลดีฟส์กำลังฟื้นตัว ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศตอนนี้ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิดในปี 2019 ประมาณ 30-35% เพราะกลุ่มประเทศอย่าง จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น ยังไม่ผ่อนปรนมาตรการให้ประชากรเดินทางออกนอกประเทศได้ ถ้าสถาการณ์ดีขึ้นในประเทศเหล่านี้ ยอด 35% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปนั้นก็จะกลับมาทันที”
นักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นมีบทบาทสำคัญในอุตสหกรรมการท่องเที่ยวมาก โดยในไตรมาสแรกนั้น ชาวจีนที่จัดว่าเป็นกลุ่มมาเที่ยวมัลดีฟส์มากที่สุดในยามปกติ เดินทางมาเที่ยวแค่เพียง 504 คนเท่านั้น แต่ยังมัลดีฟส์ได้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียเเละอินเดียมาพยุงรายได้
รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวแห่งประเทศมัลดีฟส์ แสดงความคิดเห็นถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “นักท่องเที่ยวชาวจีนยังกลับไม่มาเที่ยวดีนัก เราตั้งใจรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก เมื่อเขากลับมาเที่ยวมัลดีฟส์ เขามั่นใจว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของมัลดีฟส์อีกเช่นเคย”
ผลสำรวจล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังในสหรัฐฯ McKinsey ระบุว่า ชาวจีนเพียง 43% เท่านั้นที่รู้สึกอยากเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ
เซียง จือ ฟาน นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เคยไปเที่ยวเมืองไทยและประเทศต่างๆ บอกกับวีโอเอไทย ผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์จากบ้านของเขาในเมืองฉางโจวว่า “ปัญหาหลัก คือ เขาไม่มีเวลากักตัว คนจีนส่วนใหญ่กังวลเรื่องเดียว คือเวลากลับเข้าประเทศจีน รัฐบาลจะมองว่าเป็นคนที่กลับมาเข้ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด และจะต้องถูกกักตัวในโรงแรม 14 วัน มันเป็นอะไรที่เสียเวลาและเงินมาก”
อย่างไรก็ตาม อภิภัทร์ เปรื่องการ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ PATA กล่าวว่า “ประเทศจีนมีความต้องการสะสม หรือ pent-up demand ในด้านการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีหนาแน่นไปด้วยคนจีน เขาคาดว่าเมื่อจีนเปิดพรมแดน คนจีนจะพร้อมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ องค์กร PATA ยังพูดถึงประโยชน์ทางด้านภูมิศาสตร์ของมัลดีฟส์และเกาะภูเก็ตของไทยที่เตรียมจะเปิดโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำหรือปานกลางเข้ามาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ต้องกักตัวว่า “มัลดีฟส์มีความพิเศษที่ว่ามีหมู่เกาะเล็กๆเป็นจำนวนมาก การควบคุมการแพร่กระจายของโคโรไวรัส หากมีการระบาดขึ้นก็จะค่อนข้างทำได้ง่าย โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็สามารถดูมัลดีฟส์เป็นตัวอย่างได้ ประเทศไทยสามารถโฟกัสเกาะๆหนึ่งและเอานักท่องท่องเที่ยวไปอยู่เกาะนั้น ถ้าเกิดการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ก็จะควบคุมให้เชื้ออยู่เกาะนั้นๆไป”
ส่วนเรื่องการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน PATA แนะนำถึงปัจจัยสำคัญหลักสองอย่าง
“สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารถึงนโยบายการควมคุมโรคและความปลอดภัยให้ชาวต่างชาติเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมเป็นต้นไป โรงแรมต่างๆทยอยได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานด้านสาธารณสุข หรือ SHA Plus พนักงานโรงแรมเกือบทั้งหมดในจังหวักภูเก็ตก็ได้รับวัคซีนแล้ว นั่นคือสิ่งสำคัญอันดับแรก รองลงมา คือ การมีนโยบายการเปิดประเทศที่ชัดเจน เช่น ชาวต่างชาติจะสามารถเดินทางเช้าประเทศได้อย่างไร สองปัจจัยนี้จะช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถเรียกนักท่องเที่ยวต่างชาติและทัวร์ของนักท่องเที่ยวจีนให้กลับเข้ามาได้ พวกเขาต้องการความมั่นใจว่าการไปเที่ยวนั้นปลอดภัย ”
ท้ายสุด รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวของประเทศมัลดีฟส์บอกว่า มัลดีฟส์จะเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชากรต่อไป โดยมีการสั่งวัคซีนแอนตร้าเซเนก้าที่ผลิตในไทยถึง 70,000 โดส และ วัคซีนสปุคนิก วี จากรัสเซียเป็นจำนวน 20,000 โดส