คำว่า “อีสาน” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบริบทสังคมการเมืองไทยมาแล้วกว่า 120 ปี ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ระบุว่า นอกจากจะเป็นผลิตผลจากรัฐราชการรวมศูนย์แล้ว ยังปลูกฝังแนวความคิดการมองคนไม่เท่ากันและตอกย้ำความเลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ยังแก้ไขไม่ได้

การเปิดห้องสนทนาในแอปพลิเคชัน “คลับเฮาส์” ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คนอีสานในเชิงเหยียดหยามสีผิว ปัญหาครอบครัวและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร เมื่อคืนวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำคลิปเสียงที่บันทึกการสนทนามาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดกระแสพูดถึงในทวิตเตอร์จนทำให้ #คลับเฮาส์toxic ขึ้นสู่อันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาต่อมา และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


เรื่องดังกล่าวยังสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มชาวอีสานด้วย โดยเมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ตัวแทนกลุ่ม “คนอีสาน..บ่ทน” ได้กล่าวปราศรัยพร้อมป้ายข้อความว่า “หยุด ย่ำยี เหยียดหยาม คนอีสาน” อ่านแถลงการณ์ ที่หน้า สภ. เมืองขอนแก่น ก่อนที่เข้าแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน เอาผิดกับคนที่มีพฤติกรรมย่ำยีและเหยียดหยามคนอีสานในห้องสนทนาคลับเฮาส์

“สิ่งที่เด็กดูถูกเป็นความรู้สึกเชิงชาติพันธุ์ เขาอาจจะไม่เข้าใจดีพอในทางวัฒนธรรม ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา อาหารการกิน ซึ่งถือว่าเป็นความหลากหลายมีสีสันมากกว่า” ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ให้บีบีซีไทยฟัง

ผศ. พิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูถูกหรือเหยียดคนอีสานหรือชาติพันธุ์อื่น ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยบางส่วนยังมีปมปัญหาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ฝังลึกในระดับจิตสำนึก และการไม่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดีพอ จึงทำให้มองคนไม่เท่ากัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวความคิดตามระบอบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์

“เมื่อคนจำนวนหนึ่งมองคนไม่เท่ากัน ปมเหยียดคนอีสานจึงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ”

วาทกรรม “คนอีสาน” ภาพแทน “จน โง่ เจ็บป่วย แห้งแล้ง”

546 Views